Chaichai Books

View Original

Interview: David Eagleman

คุยกับ David Eagleman ผู้เขียน SUM


Highlight

“เมื่อคุณไปถึงสุดทางความรู้ในวิทยาศาสตร์ คุณจะพบว่ามันยังไปต่อได้อีก และข้างหน้าก็มีเพียงมหาสมุทรของความไม่รู้ ตรงจุดนั้นเองที่มีปริศนาแห่งการดำรงอยู่ของเรา”

“วิทยาศาสตร์ที่แท้จริงดำเนินไปโดยไม่ละทิ้งความเป็นไปได้ที่น่าสนใจทั้งหลาย และทดลองเพื่อดูว่าข้อมูลที่หามาสนับสนุนความเป็นไปได้ใดมากที่สุด”


เดวิด อีเกิลแมน เป็นนักประสาทวิทยาศาสตร์ที่ใช้เวลายามค่ำคืนเขียนหนังสือ ตัวหนังสือของเขาจึงมีเสน่ห์ที่แตกต่างออกไปจากคนเขียนวรรณกรรม วิธีเล่าเรียบง่าย โดดเด่นที่แนวคิดในการวาดโครงสร้างของเรื่องเรื่องหนึ่งขึ้นมา ใช้เวลาอ่านไม่นานนัก แต่ใช้เวลาขบคิดอยู่ในหัวต่อจากนั้นไปอีกนาน

ซัม ถือเป็นผลงานเล่มแรกและเล่มเดียวของเขาที่เป็นเรื่องแต่ง ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2009 กลายเป็นหนังสือขายดีและได้รับคัดเลือกเป็นหนังสือแห่งปีโดย Barnes and Noble, Chicago TribuneNew Scientist และ The Guardian ปัจจุบันตีพิมพ์ออกมาแล้ว 27 ภาษา และมีฉบับพิมพ์ภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ (Chaichai Books)

บทสัมภาษณ์นี้แปลมาจากเว็บไซต์ของเดวิด อีเกิลแมน ที่ชื่อ “Q&A with David about SUM” โดยไม่มีการตัดทอน เพื่อให้เราได้เข้าใจแนวคิดของหนังสือแปลกๆ เล่มนี้มากขึ้น

ช่วยเล่าถึง ซัม (SUM) หน่อย

ซัมเป็นวรรณกรรมที่ประกอบด้วยเรื่องราว 40 เรื่องแยกส่วนกัน แต่ละเรื่องนำเสนอเหตุผลต่างๆ เกี่ยวกับการมีอยู่ของเรา และความหมายของความเป็นและความตาย ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์อะไร เพียงแค่ต้องการเสียดสีและกระตุ้นการมองชีวิตในแง่มุมใหม่ๆ

ลองยกตัวอย่างได้ไหม

ในแต่ละเรื่อง พระเจ้าอาจจะเป็นคู่สมรส เป็นคณะกรรมการ เป็นสิ่งมีชีวิตที่โง่เขลา หรืออาจจะมีขนาดเท่าแบคทีเรีย หรือบางเรื่องก็ไม่มีพระเจ้าเลยด้วยซ้ำ และผู้คนในชีวิตหลังความตายต่างก็ต่อสู้กันเพราะสมมติฐานของการที่พระเจ้าทิ้งสวรรค์ไปนั้นแตกต่างกัน บางเรื่อง มนุษย์เป็นเพียงเครื่องสำรวจที่สร้างโดยนักทำแผนที่โลก เราอาจเป็นสิ่งมีชีวิตสิบมิติที่ใช้เวลาพักร้อนในร่างกายสามมิติ บางครั้งชีวิตเราเดินถอยหลังเมื่อจักรวาลเริ่มหดตัว และได้ประจักษ์ความทรงจำแท้จริงทั้งหมด

คุณใช้เวลาเขียนเรื่องนี้นานเท่าไร

7 ปี ผมเขียนมามากกว่า 75 เรื่อง แต่คัดมาเฉพาะที่เหมาะสม

ช่วยอธิบายชื่อเรื่องหน่อย (SUM)

ผมเลือกชื่อนี้ด้วยเหตุผล 3 ประการ หนึ่ง Sum เป็นภาษาละติน แปลว่า “ฉันเป็น…/ฉันมีอยู่…” อย่างใน “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” (cogito ergo sum) สอง Sum เชื่อมโยงกับศัพท์ละตินที่แปลว่า สูงสุด (summa cum laude) หรือคำว่า summit ในภาษาอังกฤษ สาม ประเด็นของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ภาพรวมย่อมสำคัญกว่าแต่ละส่วน (The whole is greater than the sum of the parts- Aristotle) เมื่อคุณอ่านเล่มนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าแต่ละเรื่องแยกส่วนกัน แต่มีบางอย่างที่ใหญ่กว่านั้นที่ทำให้มันประสานเป็นหนึ่งเดียวในที่สุด

บางอย่างที่ใหญ่กว่านั้นคืออะไร

ความตระหนักว่ามีความเป็นไปได้อีกมากมายที่จะอธิบายว่าอะไรเกิดขึ้นข้างนอกนั้น ผมแปลกใจบ่อยๆ เวลาเห็นคนจำนวนมากปักใจเชื่อเรื่องราวทางศาสนาที่พวกเขาถูกสอนมา ไม่สงสัยในความจริงสัมบูรณ์นั้น ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่าความยึดติดต่อเรื่องเล่าเช่นนี้มีอยู่ทุกศาสนา และก็คิดเช่นกันว่าศาสนาอื่นๆ นั้นผิด ผมท้อเมื่อเห็นว่าเราแทบจะไม่สำรวจความเป็นไปได้อื่นๆ ซึ่งมีอีกมหาศาล มีแนวคิดที่ก้าวล้ำไปกว่าสิ่งที่คุณจะหาได้ในคัมภีร์ใดๆ แต่แทบไม่มีการพูดคุยถกเถียงในเรื่องนี้ ผมจึงคิดว่าเราไม่น่าจะยึดถือเรื่องเล่าใดเป็นพิเศษ ในเมื่อไม่มีหลักฐานสนับสนุน สิ่งสำคัญก็คือการสำรวจและชื่นชมความเป็นไปได้มากมายนี้ เรื่องราวแต่ละเรื่องในซัมเขียนขึ้นเพื่อสิ่งนี้ เพื่อฉายไฟส่องไปทั่วๆ จักรวาลแห่งความเป็นไปได้

แล้วคุณเชื่อว่าเรื่องใดใน Sum เป็นความจริงไหม

ไม่มีเรื่องไหนที่ผมตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น จุดประสงค์หลักคือข้อความที่ผุดออกมาจากหนังสือ ว่ามีความเป็นไปได้อีกมากมาย และเราควรอภิปรายกันเกี่ยวกับขนาดของจักรวาลมากกว่าต่อสู้กันเพราะเรื่องเล่าไม่กี่เรื่องซึ่งบรรพบุรุษเราสร้างขึ้น

แล้วมีเรื่องเล่าใดบ้างที่คุณเห็นว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด

มันดูไม่น่าจะเป็นพอๆ กัน

คุณเชื่ออะไรบ้างไหม

ผมเชื่อในความเป็นไปได้

เพราะนั่นเหมาะกับอาชีพนักวิทยาศาสตร์ของคุณใช่ไหม

มันเป็นหัวใจของอาชีพนี้เลย วิทยาศาสตร์ที่แท้จริงดำเนินไปโดยไม่ละทิ้งความเป็นไปได้ที่น่าสนใจทั้งหลาย และทดลองเพื่อดูว่าข้อมูลที่หามาสนับสนุนความเป็นไปได้ใดมากที่สุด บางครั้งมันก็ยากและเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรวบรวมข้อมูลมาใช้ตัดสิน ในกรณีเหล่านั้น คุณก็เพียงแต่รักษาความเป็นไปได้ทั้งหมดนั้นไว้ในใจ ไม่ปักใจเชื่อเรื่องใดๆ เพียงแบบเดียว หากยังไม่มีเหตุผลมาสนับสนุนเรื่องใดให้เหนือกว่าเรื่องอื่น

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ คุณคิดว่าเราจะหาคำตอบว่าด้วยความหมายของชีวิตได้ในสักวันไหม

อาจจะมีวันนั้น ผมไม่ใช่พวกนิยมความลี้ลับที่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์ไม่มีวันตอบคำถามที่ล้ำลึกได้ แต่ผมไม่คิดว่าเราจะตอบคำถามนี้ได้ในช่วงชีวิตสั้นๆ ของผมหรือในศตวรรษที่ 21 นี้หรอก ผมอุทิศตัวแด่การแสวงหาทางวิทยาศาสตร์ เพราะหากอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกนี้ ไม่มีวิธีไหนจะดีไปกว่าการศึกษาพิมพ์เขียวของมัน และวิทยาศาสตร์ก็ประสบความสำเร็จมานานกว่า 400 ปีแล้ว เราไปถึงดวงจันทร์ รักษาอีสุกอีใส มีระบบอินเทอร์เน็ต และทำให้อายุขัยเพิ่มเป็นสามเท่า เราก้าวไปใกล้พิมพ์เขียวนั้นมากขึ้นทุกที และมันลึกซึ้ง สวยงามกว่าที่ใครคาดเดาเอาไว้ แต่ท้ายที่สุด เมื่อคุณไปถึงสุดทางความรู้ในวิทยาศาสตร์ คุณจะพบว่ามันยังไปต่อได้อีก และข้างหน้าก็มีเพียงมหาสมุทรของความไม่รู้ ตรงจุดนั้นเองที่มีปริศนาแห่งการดำรงอยู่ของเรา เช่นเดียวกับเรื่องมวลและพลังงาน สสารมืด สภาวะหลายมิติ การสร้างจิตสำนึกขึ้นจากองค์ประกอบต่างๆ ความหมายของความเป็นและความตาย ฯลฯ ผมรู้ว่าเราจะยังคงสร้างปลายสะพานยื่นออกไปเรื่อยๆ ในแต่ละชั่วอายุคน แต่เราไม่มีทางรู้ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน มหาสมุทรนั้นกว้างใหญ่มาก อาจมีส่วนที่วิทยาการของเราเข้าไปสำรวจไม่ถึง อาจแค่ปัจจุบัน หรืออาจตลอดไป

/ SUM: Forty Tales from the Afterlives

/ David Eagleman

หนังสือของคุณจัดว่าเป็นหนังสือของพวกไร้ศาสนาได้หรือไม่

ผมไม่คิดอย่างนั้น หนังสือของ Dawkins, Dennett, Harris, Hitchens และคนอื่นๆ นั้นยอดเยี่ยมและปลุกความคิด แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดสามัญเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ที่ว่านักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเสี่ยงอะไรนอกเหนือไปจากข้อมูลที่มี ความจริงแล้วนักวิทยาศาสตร์ที่ดีนั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ใจกว้างมากที่สุด วิทยาศาสตร์เป็นเพียงการตรึกตรองอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้เข้าใจความซับซ้อนของโลกใบนี้ ความซับซ้อนนี้เองที่ผลักดันให้เรารักษาความเป็นไปได้มากมายไว้ในหัวพร้อมๆ กัน ในชีวิตคนคนหนึ่งอาจยังกำจัดความคลุมเครือเหล่านั้นออกไปไม่ได้ และนั่นก็ไม่เป็นไร นักวิทยาศาสตร์อาจต้องการผลลัพธ์บางอย่างที่เขาชอบ แต่ก็ระวังอยู่เสมอที่จะสรุปอะไรลงไป เปิดรับข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาถ่วงดุลอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น มีคำอธิบายเกี่ยวกับฟิสิกส์ควอนตัมที่ต่างกันมากสองแบบ เป็นไปได้ว่าเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าคำอธิบายใดถูกต้อง หรืออาจจะมีทฤษฎีใหม่ที่ถูกต้องทั้งหมดออกมา ความคลุมเครือนื้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวลึกลับที่เราเผชิญหน้าอยู่เช่นกัน มักจะเป็นข้อตกลงที่มีร่วมกันระหว่างเรากับธรรมชาติ (Mother Nature)

คุณเป็นคนไร้ศาสนาหรือเปล่า

ขึ้นอยู่กับว่าคุณหมายความว่าอะไร ตอนวัยรุ่นผมเป็นคนไร้ศาสนา เดี๋ยวนี้ผมเข้าใจแล้วว่าความต้องการของผมที่จะโน้มน้าวคนอื่นให้ไร้ศาสนาก็เป็นหนึ่งในรูปแบบความปรารถนาที่เพียงต้องการพิสูจน์ว่าสิ่งหนึ่งเป็นไปได้มากกว่าอีกสิ่ง ซึ่งพวกเขาอาจเรียนรู้มาจากพ่อแม่ สังคม หรือวัฒนธรรม มันไม่แปลกเลย หากคุณเกิดในซาอุดิอาระเบีย แล้วประสาทสัมผัสมีแนวโน้มจะนับถืออิสลาม หากเกิดในอินเดีย ก็รักฮินดู คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็เชื่อคริสต์หมดใจ สมองที่อยู่ในต่างสถานที่ ย่อมมีบริบทที่ต่างกัน และมักจะเชื่อเรื่องราวท้องถิ่นเหล่านั้นจากการถูกปลูกฝังในวัยเด็ก พวกเขาก็จะยังคงปกป้องความเชื่อนั้นต่อไป ซึ่งก็ตลกมาก สำหรับคนหลายๆ คน ความเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมใหญ่ เราควรเปิดใจกว้าง พร้อมรับทุกสิ่งที่เราไม่ได้รู้จักมันจริงๆ

คุณคิดว่ามีศาสนาใดที่ดู ‘เป็นไปได้’ บ้างไหม

ผมคิดว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็มีศรัทธาทั้งนั้น แต่อาจไม่ใช่แบบทั่วๆ ไป อย่างที่นักปรัชญา Russell และ Whitehead ได้บอกไว้ ศรัทธาของเราควรตั้งอยู่บนฐานรากของสิ่งที่เรารู้แล้ว ในตอนนี้ เรารู้จักเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของเอกภพเท่านั้น รวมถึงระบบกลไกทางชีววิทยาในร่างกายเราเอง พฤติกรรมแบบสุ่มของอะตอม และอื่นๆ หลักการก็คือการใช้องค์ความรู้เหล่านี้เป็นจุดตั้งต้นของศรัทธาทางศาสนาทั้งหลาย แทนที่จะเป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นพันปีมาแล้ว ซึ่งเขียนโดยคนที่ไม่มีโอกาสได้รู้จัก ดีเอ็นเอ ระบบสุริยะ การติดเชื้อแบคทีเรีย สารสนเทศ ไฟฟ้า บิ๊กแบง หรือแม้แต่วัฒนธรรม วรรณกรรม และภูมิศาสตร์ในดินแดนอื่นๆ เรื่องเล่าของท้องถิ่นหลายเรื่องนั้นงดงาม และมักจะแฝงภูมิปัญญาเฉียบคม แต่สำหรับผม ศาสนาท้องถิ่นมักจะคับแคบจนไม่น่าจะถูกต้อง ตอนนี้เรารู้อะไรมากกว่าเดิมแล้ว และมันทำให้เรารู้สึกอัศจรรย์ใจต่อเรื่องเร้นลับรอบตัว เพราะฉะนั้น นี่อาจเรียกว่าศาสนาในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้

เช่นนั้นคุณก็เป็นพวกที่ไม่เชื่อว่าศาสนาเป็นเรื่องพิสูจน์ได้ (agnostic)

เปล่าครับ ผมว่าคำนี้มันดูอ่อนมาก อย่างที่คนเขาชอบใช้กัน มันมักจะแปลว่า “ผมไม่เคยแน่ใจเลยว่าชายไว้เครายาวบนปุยเมฆนั้นมีจริงหรือไม่” แต่ผมว่ายังมีหนทางอื่นๆ ที่น่าตื่นเต้นให้ค้นหาอีก เช่น หากรอบแนวคิดใหม่ๆ ที่เราไม่เคยพิจารณามาก่อน

อย่างนั้นคุณจะเรียกตัวเองว่าอะไรล่ะ

ผมเป็นนักนิยมความเป็นไปได้ครับ (Possibilian– พอสสิบิเลียน)


Words: Khing Amatyakul
Photos: Papercut.co / manita-s.tumblr.com


Related Post

See this gallery in the original post