Chaichai Books

View Original

SUM ผลรวมแห่งความเป็นไปได้และความตายที่กำลังจะมาถึง

ผลงานนี้ได้รับรางวัล รักพี่เสียดายน้อง จากกิจกรรมรีวิวหนังสือ

รีวิวโดย จิรภัทร  บุณยะกาญจน

 

  ...ครั้งหนึ่ง กษัตริย์แคว้นฉินทรงตรัสถามจิตรกรเอกของพระองค์ว่า ในบรรดาภาพวาดทั้งหมด ภาพใดวาดยากที่สุดและภาพใดวาดง่ายที่สุด จิตรกรทูลตอบพระองค์ว่า ภาพที่วาดยากที่สุด เป็นภาพของม้าและสุนัข ส่วนภาพที่วาดง่ายที่สุดคือภาพของ “ภูตผีปีศาจ” พระองค์ทรงถามต่อว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จิตรกรอธิบายว่า เพราะม้าและสุนัขเป็นสิ่งที่คนเห็นอยู่ทุกเมื่อทุกวัน ทุกคนต่างคุ้นตา การวาดสิ่งที่คนรู้รายละเอียดอย่างดีให้เหมือนจึงเป็นเรื่องยาก ส่วนภูตผีปีศาจนั้น เพราะไม่มีใครเคยเห็น จะวาดให้ผิดเพี้ยนอย่างไรก็ยังคงเป็น “ภูตผีปีศาจ”...

เรื่อง 画鬼最易 ปรากฏในตำรา 《韩非子·外储说左上》

ของหานเฟยจื่อ 


  การเขียนเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวนั้นทำให้สมจริงและละเอียดลออได้ยาก เนื่องจากมีบรรทัดฐานให้เห็น ผู้คนจับต้องได้และสามารถพิสูจน์ความเป็นจริงของเรื่องราวได้อย่างง่ายดาย จึงสร้างความยากอย่างยิ่งยวดให้ผู้สร้างผลงาน ทว่าการเสกสรรค์เรื่องเล่าที่ก้าวล่วงออกจากความเป็นจริงอันมีให้เห็นอยู่ทุกวันของมนุษย์ไปยังสิ่งที่ประสบการณ์ของมนุษย์ไม่อาจมุ่งเอื้อมถึงเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายดายยิ่งกว่า เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเรื่องที่เราปั้นแต่งขึ้นมามีความจริงแท้ผสานอยู่มากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับการเขียนงานที่เกี่ยวกับ “ความตาย” ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็นเท่าการเขียนเรื่องวัวควาย เพราะ “ความตาย” คือพรมแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีใครบอกเล่าประสบการณ์แก่เราได้ว่า เบื้องหลังฉากสุดท้ายแห่งชีวิตที่ค่อย ๆ แง้มปิดลงนั้น มีสิ่งใดรอคอยเราอยู่ จะได้ประสบกับชีวิตหลังความตายหรือไม่ จะได้แอบอิงแนบอ้อมกอดของพระเจ้าหรือไม่ หรือแท้ที่จริงเป็นเพียงประตูที่พาเราไปสู่สถานที่แห่งใหม่ ไม่มีใครรู้แน่ชัด เราย่อมตวัดปากกาจรดเรื่องราวหลังความตายในทิศทางใดก็ได้ตามที่ใจปรารถนา

ทว่า พลวัตของความยากง่ายไม่ได้นิ่งนอนอย่างใด ทุกอย่างเลื่อนไหลและแปรเปลี่ยน ง่ายดายเหลือเกินที่จะเขียนเรื่องราวไร้กรอบเกณฑ์ แต่การไร้กรอบเกณฑ์และอยู่นอกเหนือประสบการณ์ รวมไปถึงนอกเหนือจินตนาการของมนุษย์คือสิ่งที่ลึกล้ำเหลือคณา เพราะเมื่อเราไม่เคยพบเห็นสิ่งนั้น ไม่เคยสัมผัส “ความตาย” เราจะจินตนาการได้อย่างไรให้เรื่องราวที่เขียนนั้น “สมจริง” อยู่บน “ความไม่รู้” ของผู้เล่าและ ผู้อ่าน จะทำให้ผู้อ่านตรึงติดอยู่กับเนื้อหาเกือบสองร้อยหน้าที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงได้อย่างไร จะกระแทกความปั่นป่วนหรือสอดแทรกมวลมหึมาแห่งความสะพรึงเกี่ยวกับเรื่องราวหลังความตายให้ผู้อ่านซึมทราบได้อย่างไรในเมื่อไม่มีใครที่กำลังอ่านเคย “ตาย” แต่ “SUM สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย” ได้ทำความ ”ง่าย?” นี้ให้วิจิตรและแยบคายผ่านแนวคิดของนักเขียนอย่าง David Eagleman และผ่านการแปลเป็นภาษาไทยที่งดงามด้วยฝีมือของ ณัฐกานต์ อมาตยกุล

และนี่คือบทต่อไปของความยากที่หานเฟยจื่อยังไม่ได้กล่าว

จินตนาการกว้างไกลของผู้เขียนที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตหลังความตายให้เราเห็นตลอด 40 เรื่องนี้คือเครื่องมือในการสร้าง “ความเป็นไปได้” ว่า “ชีวิตหลังความตาย” ของเราจะอยู่ในรูปแบบไหนได้บ้าง ราวกับ “SUM สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย” กำลังฉายภาพยนตร์ 40 เรื่องให้เราชม ภาพยนตร์ 40 เรื่องที่ทำให้เราต้องหวนกลับมาคิดว่า ความตายคืออะไร ความตายใช่การสุดสิ้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งจริงหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวทั้ง 40 เรื่องนี้ไม่เพียงหยิบยื่นความเป็นไปได้ของโลกเบื้องหลังการตายให้แก่พวกเรา แต่ยังหยิบยื่นให้เห็นความเป็นไปได้ของ “มนุษย์” ความเป็นไปได้ของ “โลก” ที่เรายืนอยู่ และความเป็นไปได้ของ “ชีวิต” ให้เห็นว่าสิ่งบางสิ่งที่เรายึดถือว่าใช่ ว่าเป็นมาตลอด อาจไม่ใช่สิ่งที่คิดก็ได้ ลืมภาพเดิมๆ ที่เคยคิดว่าจะมีสวรรค์ หรือลงนรก เพราะบางทีชีวิตหลังความตายอาจไม่ได้แบ่งแยกเช่นนั้น ทุกคนเป็นเสมือนพี่น้องกัน ไม่ว่าจะทำความดีหรือความชั่วมาก่อน เมื่อเผชิญกับชีวิตหลังความตาย ทุกคนจะเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้ลงกระทะทองแดงหรือไม่มีใครได้นอนสุขสบายกว่าคนอื่น ดังนั้น ความตายจึงไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุด หากแต่เป็นพื้นที่ใหม่ที่มอบสังคมคอมมิวนิสต์ให้กับผู้คนที่ปรารถนาในแบบที่โลกแห่งคนเป็นก็ไม่สามารถมอบให้เขาได้

หรือแท้ที่จริงแล้ว โลกหลังความตายอาจไม่ใช่โลกแห่งคอมมิวนิสต์ตามเรื่องเล่าเรื่องก่อนหน้า หากแต่เป็นสถานที่ลงทัณฑ์คนบาป ให้มีชีวิตยาวนานยืดเยื้อไม่ยอมจบสิ้นเสียตั้งแต่พวกเขาเผชิญกับความตาย และชีวิตที่จบสิ้นตั้งแต่ความตายโดยไม่มีโลกหลังจากนั้น อาจเป็นรางวัลของคนดีที่ไม่จำเป็นต้องมีชีวิตอันน่าทุกข์ระทมใดๆ อีกต่อไปแล้ว

นอกจากนี้ “SUM สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย” ยังเผยความเป็นไปได้ของโลกและการมีอยู่ของเราอีกว่า บิ๊กแบงอาจไม่มีอยู่จริง การระเบิดของบิ๊กแบงอาจเป็นเพียงการทดลองของสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่กว่าเรา จักรวาลและการเคลื่อนที่ของดวงดาวเป็นเพียงการทดลองของพวกเขา และ “เรา” ก็เป็นเพียงเครื่องมือในการทดลองของนักสะสมที่พยายามหาสาเหตุและความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ เขาเฝ้าหาเหตุผลว่าทำไมเราผู้ถูกทดลองอยู่บนโลกจึงยุติความสัมพันธ์บางอย่างหรือเริ่มความสัมพันธ์กับบางสิ่ง และเมื่อเราตาย หน้าที่หนึ่งเดียวก็คือการรายงานให้นักสะสมได้ฟังถึงเหตุผลในการตัดสินใจตลอดชีวิตที่อยู่บนโลกของตัวเอง หรือบางที “เรา” อาจไม่ใช่เครื่องมือให้นักสะสมได้ศึกษาข้อมูล แต่ในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งภายในเรื่องกลับทำให้เราต้องทบทวนว่า เราอาจเป็นเครื่องมือของผู้ทำแผนที่โลก ผู้ปล่อยมนุษย์อย่างเราลงมาโลดแล่นตามสถานที่ต่างๆ และมีหน้าที่เพียงเก็บข้อมูลขึ้นไปให้พวกเขาในยามที่เราตายแล้วเท่านั้น

ความน่าอัศจรรย์ใจยังมีอีกหลายส่วน เพราะนอกจากจะมีเรื่องราวที่บิดเบือนความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังบิดเบือนความคิดดั้งเดิมของผู้นับถือความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ว่าแท้ที่จริงแล้ว พระเจ้าอาจไม่ได้มีอำนาจมากขนาดนั้น เขาเป็นเพียงผู้บังเอิญทำให้อะตอมหลอมรวมกัน และอะตอมเหล่านั้นเกิดวิ่งชนสิ่งต่างๆ กลายเป็นมนุษย์ ทุกอย่างบานปลาย มนุษย์ที่เกิดจากความไม่ได้ตั้งใจดำรงเผ่าพันธุ์และขยายจำนวนจนยากจะควบคุม และพระเจ้าก็เป็นเพียงผู้ไร้ความสามารถที่ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาแห่งความสะเพร่าของตนเองอย่างไรดี

  นี่เป็นเพียง “ความเป็นไปได้” ของสิ่งต่างๆ จากเรื่องเล่าเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น และหากคุณกรีดพลิกหน้ากระดาษไปแต่ละครั้งเพื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ ความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ จะพุ่งกระโจนเข้าประเดประดังในหัวของคุณไม่หยุด ความจริงและความลวงสับสนปนเป คุณตั้งคำถามว่า สรุปแล้ว โลกแห่งความตายเป็นอย่างไร อาจเป็นเหมือนเรื่องเล่าเรื่องที่ 14 หรือเป็นเหมือนเรื่องที่ 32 แล้ว “ตัวตน” ของคุณล่ะ ถูกสร้างมาเพื่ออะไร เหมือนที่เรื่อง 26 ได้บอกไว้ หรือเป็นแบบเรื่องที่ 9 และแม้กระทั่งสำหรับพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ แท้ที่จริงแล้วพระองค์อาจเป็นเพียงบุคคลตามที่เรื่องเล่า 40 ได้บอกเอาไว้ หรือจะไร้ประสิทธิภาพเหมือนที่เรื่อง 22 ได้เล่าถึง

คุณปีนป่ายอยู่บนความสงสัยไม่สิ้นสุด หอคอยแห่งความพิศวงสูงสุดสายตา ยิ่งพุ่งกระโจนเอื้อมคว้าคำตอบอันเที่ยงแท้ของความเป็นไปในแต่ละสิ่งเท่าใด หอคอยกลับพังทลายลงไม่ต่างจากหอคอยบาเบลที่ถล่มพินาศลงมาเป็นเศษซากแห่งความไม่รู้อันกระจัดกระจาย ราวกับโดนกระชากให้ตกลงจากบัลลังก์แห่งความผึ่งผายว่าเป็นมนุษย์ผู้รู้เพื่อมาเผชิญกับความจริงที่ว่าคุณไม่รู้อะไรเลย

ท้ายที่สุดแล้วหนังสือเล่มนี้อาจมิได้หยิบยื่นความจริงของสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้แก่ผู้อ่าน หรือหากจะหยิบยื่นก็คงเป็น “ผลรวมแห่งความเป็นไปได้” ผ่านเรื่องเล่า 1 ใน 40 เรื่องนี้ ซึ่งคุณก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าอัตราความเป็นไปได้ของความจริงคืออะไร ทว่า ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้กลับไม่ได้ผูกโยงกับแก่นของความจริงของสิ่งใด หากแต่เป็นประตูเปิดให้คุณเข้าสู่พื้นที่แห่งการทบทวนเรื่องราวชีวิตและความตายอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงวิกฤตจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่พร้อมจะปลิดปลิวชีวิตของเราได้ในทุกขณะจิต หากเราทุกคนต้องเผชิญกับความตายที่อย่างไรก็ต้องมาถึงสักวัน สิ่งเดียวที่จะเยียวยาเราได้ คือความคิดอันจะโอบอุ้มจิตวิญญาณของเราให้ตระหนักทราบว่า โลกหลังความตายอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิด

หนังสือเยียวยาจิตวิญญาณที่เหมาะสมอย่างยิ่งแด่ “คุณ” ผู้ซึ่งถูกกักตัวและไม่รู้ว่า “ความตาย” จะย่างกรายมาหาเมื่อไหร่


เกี่ยวกับหนังสือ SUM : Forty Tales from the Afterlives