Chaichai Books

View Original

Interview: Kelly Magee & Carol Guess

คุยกับสองผู้เขียน With Animal : งานเขียนและการปฏิสนธิเรื่องสั้นของตัวละครที่ออกลูกเป็นสัตว์


Highlight

"ฉันรู้จักหลายๆ คนที่ใส่ใจกับความยุติธรรมทางสังคมมาก แต่ยังคงไม่รับรู้เรื่องสิทธิสัตว์"  - Carol Guess

“เราต้องคอยระวังไม่ให้เรื่องเหล่านี้มีทัศนคติที่มองว่าสัตว์ต่ำกว่ามนุษย์ แต่ควรสำรวจแง่มุมความชาญฉลาดของสัตว์ พฤติกรรม และวิธีการสื่อสารของมันที่เข้ามามีอิทธิพลต่อเรา” - Kelly Magee


เคลลี่ มากี และ แครอล เกสส์ เป็นผู้เขียน With Animal ร่วมกัน หนังสือเล่มนี้คือร่วมเรื่องสั้นที่จะเปลี่ยนมุมมองของคุณเกี่ยวกับความสัมพันธ์ การเป็นพ่อแม่ และการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสัตว์

ทั้งสองอธิบายให้เห็นว่าเรื่องแต่งนั้นสามารถมีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองได้อย่างไร และตอบคำถามเกี่ยวกับกระบวนการร่วมกันเขียน และแรงบันดาลใจในงานเขียนของตัวเอง

An Interview with Carol Guess and Kelly Magee บทสัมภาษณ์โดย Lauren Dlugosz Rochford เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 บนเว็บไซต์ authorstalker.tumblr.com)

ฉันไม่เคยอ่านอะไรที่เหมือนกับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เลย คุณช่วยเล่านิดหนึ่งได้ไหมว่า With Animal เกี่ยวกับอะไร

เคลลี่: With Animal เป็นผลงานที่เราสองคนร่วมกันสร้างสรรค์ แต่ละเรื่องจะเล่าเรื่องมนุษย์ที่ให้กำเนิดลูกเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ บางครั้งก็เป็นสัตว์ที่มีอยู่จริง บางครั้งก็เป็นสัตว์วิเศษ หรือบางครั้งก็เป็นลูกผสมคน-สัตว์ เราใช้หัวข้อการตั้งครรภ์ของแม่มนุษย์กับลูกสัตว์เพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก พ่อแม่กับเด็ก และการจัดการความแตกต่างที่หลากหลายในแต่ละครอบครัว ความสุขหลักๆ อย่างหนึ่งในการทำงานโปรเจกต์นี้คือ การคิดเรื่องราวให้แตกต่างกันไปโดยยังอยู่ใต้ธีมหลักของเล่ม เช่น เรามีฝาแฝดคน-ม้า ผู้ชายตั้งท้องจิงโจ้ ผู้หญิงเลี้ยงลูกมังกร รวมไปถึงการจินตนาการเรื่องราวของเวอร์จิ้นแมรี่เวอร์ชั่นใหม่

มีหลายเรื่องที่เล่นกับไอเดียสัตว์ประพฤติตัวเหมือนคนและคนเองก็ทำตัวเป็นสัตว์ เห็นว่าคุณเขียนขอบคุณโครงการพิทักษ์สิทธิสัตว์ (Nonhuman Rights Project) ในหนังสือเล่มนี้ด้วย หมายความว่า ส่วนหนึ่งที่คุณเขียนหนังสือเล่มนี้ก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสิทธิสัตว์หรือเปล่า

เคลลี่: ใช่แล้ว ฉันทุ่มเทเพื่อปกป้องสิทธิสัตว์มายาวนาน แครอลกับฉันมีจุดร่วมกันตรงนี้ด้วย สำหรับฉัน ส่วนที่สำคัญในการเขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือ เราต้องคอยระวังไม่ให้เรื่องเหล่านี้มีทัศนคติที่มองว่าสัตว์ต่ำกว่ามนุษย์ แต่ควรสำรวจแง่มุมความชาญฉลาดของสัตว์ พฤติกรรม และวิธีการสื่อสารของมันที่เข้ามามีอิทธิพลต่อเรา หรือการที่มนุษย์พยายามจะบังคับสัตว์ให้ทำตามคำสั่งนั้นอาจจะสร้างความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่าย

แครอล: ฟิกชั่นเป็นวิธีการที่ดีเยี่ยมในการชักชวนผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับแนวคิดทางการเมือง (ซึ่งน่าจะต่อต้านความคิดเดิม) ฉันรู้จักหลายๆ คนที่ใส่ใจกับความยุติธรรมทางสังคมมาก แต่ยังคงไม่รับรู้เรื่องสิทธิสัตว์ (มากไปกว่าการดูแลสัตว์เลี้ยงในบ้าน) With Animal สร้างพื้นที่ให้ผู้คนได้พบกับวินาที “อ่าฮ้า” คือวินาทีที่หลอดไฟในหัวสว่างวาบขึ้น และพวกเขาก็เริ่มมองสัตว์ในมุมที่ต่างไป หากหนังสือของเราสามารถสร้างความรู้สึกนี้ให้นักอ่านได้แม้เพียงหนึ่งคน เราก็ประสบความสำเร็จแล้ว

รวมเรื่องสั้นชุดนี้ไม่เพียงเล่าเรื่องมนุษย์ตั้งครรภ์สัตว์ แต่ยังเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี บทบาททางเพศ การแต่งงาน และครอบครัวซึ่งมีรูปแบบต่างจากบรรทัดฐานสังคม (และอื่นๆ อีก!) เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ จะพบว่าเรื่องราวเริ่มซับซ้อนขึ้นและโครงเรื่องก็ไม่ได้เล่าอย่างตรงไปตรงมาอีกต่อไป เพื่อนของฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ และอธิบายได้อย่างน่าสนใจว่า ไม่มีกฎเกณฑ์ใดเลยที่กำหนดว่าแต่ละเรื่องต้องออกมาเป็นอย่างไร นักเขียนสองคนเขียน With Animal ขึ้นมาร่วมกัน และฉันก็สนใจวิธีการทำงานลักษณะนี้มาก คุณทั้งสองมีส่วนร่วมกับเรื่องสั้นทุกเรื่องเลยหรือเปล่า หรือแค่แบ่งกันทำคนละเรื่อง พวกคุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าทั้งคู่จะพอใจผลลัพธ์การสร้างสรรค์ที่ออกมา เคยถกเถียงกันเกี่ยวกับทิศทางของเรื่องไหม

เคลลี่: แครอลกับฉันทำงานเข้ากันได้ดีอย่างประหลาด แต่ละเรื่องเป็นผลงานที่เราเขียนด้วยกัน ฉันอาจจะเป็นคนเริ่มแล้วส่งต่อให้แครอลเพื่อให้เธอเขียนจนจบ หรือเธอเริ่มแล้วฉันจบ สลับกัน เราแลกเรื่องกันสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานที่เร็วเหลือเชื่อสำหรับฉัน (ฉันมักจะกังวลกับการเขียนเรื่องแต่ละเรื่องอย่างเอาเป็นเอาตาย) แต่สุดท้ายนี่กลับกลายเป็นการทำงานเขียนอันเปี่ยมสุข จังหวะการทำงานอันว่องไวทำให้เราเดินทางข้ามผ่านโลกที่สร้างขึ้นมาเหล่านี้ได้ในเวลาอันสั้น และการร่วมมือสร้างงานก็หมายความว่าเรารับผิดชอบแค่ครึ่งเรื่องต่อสัปดาห์ ซึ่งดูเหมือนจะต้องอาศัยการจัดการที่มากกว่าการเขียนเรื่องทั้งเรื่อง เริ่มเดิมทีฉันก็กังวลกับประเด็นที่คุณพูดถึง–ถ้าฉันไม่ชอบตอนจบของแครอลล่ะ? หรือถ้าฉันรับเรื่องมาเขียนแล้วดันคิดตอนจบไม่ได้–แต่ใช้เวลาไม่นานฉันก็เรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในศิลปะการประพันธ์ของเธอ และฉันก็ไม่เคยผิดหวังเลย ฉันตื่นเต้นเสมอเมื่อได้รับส่วนเริ่มเรื่องจากเธอ แล้วพยายามออกแบบตอนจบในแบบของฉันเอง รู้สึกอิสระเสรีเมื่อสามารถเริ่มต้นเรื่องหนึ่งได้แล้วส่งต่อให้เธอเขียนต่อให้เสร็จ (และตอนจบของเธอเป็นดังระเบิดไดนาไมต์เสมอ) น้อยครั้งนักที่เรากลับมาแก้ไขเรื่องราวหลังจากที่เขียนมันเสร็จไปแล้ว–ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องไม่ปกติในการทำงานของฉัน แต่ในเมื่อส่วนครึ่งเรื่องแต่ละส่วนได้รับการตรวจทานไปแล้วระหว่างทาง เมื่อมันเสร็จก็คือเสร็จเลย ฉันขอแนะนำให้คนอื่นทำแบบนี้เช่นกัน เพราะมันเป็นวิธีการทำงานเขียนที่ใช้เวลาได้คุ้มค่ามาก

แครอล: ไม่เคยสักครั้งที่ฉันจะไม่เห็นด้วยกับเส้นเรื่องของเคลลี่ ฉันและเคลลี่เป็นเพื่อนกันในชีวิตจริง แต่ในหน้ากระดาษ ฉันคิดว่าจินตนาการของเราทั้งคู่เป็นฝาแฝดกัน กระบวนการสร้างสรรค์ของเราประสานสอดคล้องกันไปอย่างลุ่มลึก เรามีวิถีในการจินตนาการสิ่งต่างๆ ร่วมกัน ในชีวิตจริงฉันไม่รู้ว่าเคลลี่ชอบกินอะไรเป็นอาหารเย็น เธอออกกำลังกายไหม หรือเธอทำอะไรในวันเกิด แต่จินตนาการของเราเข้ามาผสานกันได้ ทั้งประหลาดและวิเศษ และไม่เหมือนงานร่วมกันเขียนที่ผ่านๆ มาของฉัน งานที่ไม่เอ่ยออกมาโดยตรงแต่กลับทรงพลัง จริงๆ ขั้นตอนนั้นเรียบง่ายมาก เราเขียนกันคนละครึ่ง แล้วก็ส่งต่อให้อีกคนจบ

/ With Animal สัตว์สัตว์

/ Carol Guess

/ Kelly Magee

คุณทั้งสองมาเป็นนักเขียนได้อย่างไร เป็นสิ่งที่คุณอยากเป็นมาตลอดหรือว่าเคยอยากเป็นอย่างอื่นมาก่อน

เคลลี่: ฉันเคยอยากเป็นนักชีววิทยาทางทะเลเพราะฉันชอบศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ ฉันแต่งเรื่องตั้งแต่เด็กเพื่อสร้างความบันเทิงให้คนในครอบครัว แต่ฉันก็หยุดเขียนไปจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย พยายามดึงตัวเองกลับไปเขียนหนังสือด้วยการเข้าร่วมเวิร์กช็อปต่างๆ จนสุดท้ายก็ตัดสินใจเลิกทำทุกอย่างที่ทำอยู่ การเขียนนั้นเยี่ยมยอดอย่างหนึ่งตรงที่เราสามารถเอาหัวข้ออะไรมาใส่ในนั้นก็ได้ อะไรก็ได้ที่คุณหลงใหล รวมเรื่องสั้นชุดนี้สนุกตรงที่มันทำให้ฉันได้กลับไปปัดฝุ่นความรักที่ฉันเคยมีให้กับการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์และรูปแบบต่างๆ ของมัน และนำความรู้นั้นมาใช้ในงานเขียนของฉัน ลูกชายฉันหลงใหลบรรดาสัตว์เช่นกัน เขาสะสมหนังสือรวมรูปสัตว์ตั้งแต่ยังเด็กมากๆ เราจึงมีข้อมูลให้ค้นมากมายในบ้าน

แครอล: ฉันเป็นนักเต้นบัลเลต์อยู่หลายปี แต่ก็ไม่ได้เก่งนักหรอก การเลิกเต้นบัลเลต์แล้วเริ่มเขียนหนังสือนั้นให้ความรู้สึกคล้ายกับการขอให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายเมื่อต้องเผชิญความสูญเสียอันใหญ่หลวง (หมายถึงการเสียอาชีพนักเต้นบัลเลต์ไป)


มีคำแนะนำสำหรับนักอยากเขียนไหม

เคลลี่: ฉันสอนนักอยากเขียนมากมายในห้องเรียน และฉันบอกพวกเขาเสมอว่าแก่นของการเขียนคือการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง มีเรื่องโชคเข้ามาเกี่ยวแน่นอน และก็พรสวรรค์ (แม้ว่าฉันจะไม่เคยแน่ใจนักว่ามันคืออะไร) แต่หน้าที่หลักๆ ก็คือต้องเขียนอยู่เสมอ ชีวิตจะให้รางวัลและลงโทษคุณพร้อมกับให้ประสบการณ์มหาศาล คุณไม่จำเป็นต้องออกไปหามันด้วยซ้ำ แค่เพียงคุณต้องกลับมาที่โต๊ะเขียนหนังสือและฝึกฝนการแปลประสบการณ์เหล่านั้นออกมาเป็นภาษา กิจกรรมนี้ทำให้คุณกลายเป็นนักเขียน

แครอล: แค่เขียนและเขียนต่อไป ฉันไม่เชื่อว่ามีภาวะสมองตัน (writer’s block) หากมีอุปสรรค ก็เอามันมาใช้ ทำให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ ตราบใดที่คุณยังก้าวต่อไป คุณก็จะพัฒนา และสัมผัสถึงความสุข แล้วสุดท้ายมันก็จะเหลือเพียงคุณกับความปรารถนาจะเขียนแต่เพียงอย่างเดียว


Words: Khing Amatyakul
Photos: manita-s.tumblr.com

See this product in the original post

Related Post

See this gallery in the original post