ไม่ได้มีแค่ในเรื่องสั้น 10 พิพิธภัณฑ์แปลกๆ ในโลกแห่งความจริง

 

ในรวมเรื่องสั้น Revenge เรือนร่างเงียบเชียบ การบอกลาเย็นเยียบน่าขยะแขยง มีฉากที่ตัวละครไปเจอพิพิธภัณฑ์ลึกลับ ชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งการทรมาน ที่รวบรวมเอาเครื่องทรมานร่างกายคนในอดีตมาจัดแสดงรวมกัน

ไจไจบุ๊คส์เลยอยากรู้ว่า ในโลกจริงนั้น มีพิพิธภัณฑ์แปลกๆ อะไรอีกบ้าง 

1. พิพิธภัณฑ์ใต้น้ำ : Mexico

พิพิธภัณฑ์ใต้น้ำที่คันคุ่น (Cancun) เม็กซิโก ไม่ใช่แค่ลงไปดูสัตว์น้ำหรือปะการังสวยๆ แต่พิพิธภัณฑ์ใต้น้ำนี้จัดแสดงประติมากรรมขนาดเท่าตัวคนจริง กว่า 500 ชิ้นที่ฝังยึดเข้ากับพื้นทะเล มีท่าทางแปลกๆ น่าฉงนมากมาย ยิ่งเมื่อส่องกระทบแสงระยับนวลๆ ใต้ผิวน้ำสีฟ้าใสก็ทำให้เกิดความพิศวงบางอย่างในบรรยากาศใต้ทะเลเงียบสงัด 

พิพิธภัณฑ์นี้มีชื่อในภาษาสเปนว่า Museo Subacuático de Arte (MUSA) จุดประสงค์ในการสร้างไม่ใช่แค่ทำเอาไว้สวยๆ ให้สัตว์ทะเลสงสัย แต่ยังทำหน้าที่เป็นปะการังเทียม กลายเป็นความงามที่สะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผู้เข้าชมสามารถเข้าชมได้ทั้งการมองผ่านเรือพื้นกระจก หรือดำน้ำลงไปดูก็ได้

2. พิพิธภัณฑ์น้ำประปา : China

อันนี้ไม่รู้จะเรียกว่าแปลกหรืองง กับพิพิธภัณฑ์น้ำประปาที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ที่นี่เคยเป็นอาคารการประปาที่ส่งน้ำจากใจกลางปักกิ่ง ย้อนไปตั้งแต่ปี 1908 เมื่อคราวที่เริ่มมีการประปาในปักกิ่งเป็นครั้งแรก ตอนนี้ถูกแปลงให้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ รวบรวมเอาสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการประปาราว 130 ชิ้น ที่เป็นของแท้มาให้ดูกัน (ซึ่งก็ไม่รู้จะต้องดูไหม) เช่น ท่อน้ำขึ้นสนิม อุปกรณ์วัดระดับน้ำเก่าๆ และยังรวมทั้งโมเดลและแบบจำลอง ภาพถ่าย ฯลฯ เพื่อฉายให้เห็นภาพพัฒนาการของการประปาแห่งกรุงปักกิ่ง 

Beijing Tap Water Museum, China .jpg

3. พิพิธภัณฑ์จู๋ : iceland

เจอภาพพิพิธภัณฑ์นี้แล้วรู้สึกจั๊กจี้นิดๆ เพราะมันคือพิพิภัณฑ์จู๋สัตว์โลก ที่เรคยาวิค (Reykjavik) ประเทศไอซ์แลนด์ จัดแสดงอวัยวะเพศผู้หรือส่วนประกอบของจู๋กว่า 275 ชิ้น (ตอนนี้อาจจะมีมากกว่านั้น) ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม 

แล้วมีของตัวอะไรให้ดูบ้าง? ก็มีทั้งของวาฬ (ยาว 1.7 เมตร) ช้าง วอลรัส และของมนุษย์ชายอายุ 95 ปี!! เรื่อยไปจนถึงอันเล็กๆ ของหนูแฮมสเตอร์ (2 มิลลิเมตร) รวมทั้งงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับจู๋อันหลากหลาย 

1024px-Icelandic_Phallological_Museum,_Reykjavík.jpeg

ใครกันที่มีความคิดซุกซน สร้างพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมา ก็คือคุณ Sigurður Hjartarson ผู้ก่อตั้งที่เริ่มสนใจอวัยวะนี้มาตั้งแต่เด็ก เมื่อเขาได้รับพิซเซิลหรือจู๋กระทิงมา ซึ่งปกติใช้เป็นอุปกรณ์แทนแส้ฟาดปศุสัตว์ แล้วก็เริ่มสะสมอวัยวะนี้เป็นคอลเล็คชัน ก่อนจะเปิดพิพิพธภัณ์แห่งแรกเมื่อปี 1990

4. พิพิธภัณฑ์ชั้นในคนดัง : USA

พิพิธภัณฑ์นี้จริงๆ เป็นเพียงคอลเลคชันที่จัดแสดงที่ชั้นบนของร้านเสื้อชั้นในเฟร็ดเดอร์ริคส์ ออฟ ฮอลลีวูด ที่เก็บรวบรวมชั้นในของนักแสดงจากหนังเรื่องต่างๆ มาตั้งแต่ปี 1987 เช่น บ็อกเซอร์ของท็อม แฮงคส์ จากเรื่อง ฟอร์เรสต์ กัมป์ หรือเสื้อรัดเอวสตรีสีดำของมาดอนนาที่เธอใส่ในมิวสิควิดีโอ Open Your Heart (ซึ่งตอนหลังหายไประหว่างเกิดเหตุจลาจลในลอสแอนเจลิสปี 1992) แต่ใครที่อยากไปก็เสียใจด้วย เพราะดูเหมือนพิพิธภัณฑ์นี้จะไม่มีอีกต่อไปแล้ว แค่แปลกดีว่าเคยมีอะไรแบบนี้จัดแสดงเป็นเรื่องเป็นราวด้วย!

640px-Fredericks03.jpg

5. พิพิธภัณฑ์ส้วม : india

พอพูดถึงอินเดีย มีใครไม่คิดภาพคนนั่งยองๆ บ้าง แม้อินเดียทุกวันนี้ในบางภูมิภาคจะเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับการถ่ายหนักนั้นยังคงตรึงใจ และที่นิวเดลี เมืองหลวงนี้เอง มีพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศตัวให้กับการเล่าเรื่องพัฒนาการของสุขลักษณะในการขับถ่ายนับตั้งแต่ 2,500 ปีก่อนคริสตกาลมาจวบจนปัจจุบัน ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์สุขานานาชาติสุลาบห์ (Sulabh International Museum of Toilets) จัดแสดงตั้งแต่ส้วมทองคำของจักรพรรดิโรมัน ชักโครกยุคกลาง บรรดาส้วมที่สลักเสลาวาดลวดลายอย่างวิจิตร ส้วมที่ไม่มีฉากกั้นห้อง ส้วมพกพาสำหรับตั้งแคมป์ที่หน้าตาเหมือนหีบสมบัติ เอกสารบันทึกพัฒนาการของส้วมในแต่ละยุคสมัย รวมไปถึงกลอนที่แต่งในส้วม! 

6. พิพิธภัณฑ์งานศิลป์ห่วยๆ : USA

พิพิภัณฑ์งานศิลปะห่วย ที่อยู่ตรงชั้นใต้ดินในเดดแฮม แมสซาชูเซตส์ รวบรวมงานศิลปะกว่า 600 ชิ้น ที่คำบรรยายพิพิธภัณฑ์พูดไว้ขำๆ ว่าลืมไปได้เลยว่าจะตะกายไปถึงลูว์ฟ เพราะเป็นงานประเภทที่คงได้แค่ทำให้ใครบางคนพยักหน้าให้อย่างสุภาพและกล่าวเชยชมโดยไร้ความจริงใจ แต่มันเป็นงานศิลปะที่ห่วยถึงขนาดที่เกินกว่าจะมองข้ามไปได้ อย่างภาพดอกไม้พิลึกที่ระบายสีสดที่เมื่อคุณเห็นก็อาจบอกได้เลยว่า เด็กห้าขวบที่บ้านอาจจะวาดได้เช่นกัน

7. พิพิธภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป : JAPAN

พิพิธภัณฑ์ที่คนเบี้ยน้อยอาจรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้เข้าชมนี้ มีสองแห่งอยู่ที่โอซากาและโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ราเมนกึ่งสำเร็จรูป โมโมฟูกุ อันโด ซึ่งตั้งตามชื่อของผู้คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 1958 ที่นี่จัดแสดงบรรจุภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากทั่วโลก มีอาหารสุดพิเศษให้ชิม เดินชมห้องจำลองโรงงานผลิต และสามารถลองออกแบบบรรจุภัณธ์ของตัวเองได้ด้วย นี่ก็คือความงดงามกึ่งสำเร็จที่ผสานในชีวิตเร็วๆ ประหยัดๆ ของคนยุคสมัยใหม่ มองย้อนไปแล้วก็อาจจะรู้สึกเหมือนมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกมากมายในอดีต

9054545606_eef1ef3f87_c.jpg

8. พิพิธภัณฑ์ซากปรักความสัมพันธ์ : Croatia

แค่ชื่อก็สุดดรามาน้ำตาตกจนอยากโทรหาพุธทอล์คพุธโทร พิพิธภัณธ์แห่งนี้ก่อตั้งโดยสองศิลปินชาวโครเอเชียและคู่รักที่ไม่สมหวังอย่าง Dražen Grubišić และ Olinka Vištica ก็ตามชื่อเลย ที่นี่จัดแสดงวัตถุที่บันทึกความสัมพันธ์ของคู่รักต่างๆ ที่ไม่อาจไปต่อด้วยกันได้ และก็ไม่ใช่น้อยๆ ด้วย เพราะมีวัตถุจัดแสดงมากกว่า 2,000 ชิ้น เช่น ตุ๊กตาหมี​ โปสการ์ด จดหมาย ไฟแช็ค หรืออะไรแปลกๆ อย่างขวดที่บรรจุด้วยน้ำตา หรือขวานที่เคยใช้จามเฟอร์นิเจอร์ของคู่รักที่นอกใจ พร้อมคำบรรยายดึงดรามาเพื่อให้เห็นบริบทที่อยู่เบื้องหลังวัตถุธรรมดาๆ ชิ้นนั้น

ถ่ายภาพ: Nataša Njegovanović

ถ่ายภาพ: Nataša Njegovanović

9. พิพิธภัณฑ์จานบิน : USA

พูดถึงจานบิน หลายๆ คนก็จัดมันอยู่ในเรื่องเล่าลี้ลับงมงายพอๆ กับกระสือ ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริง แต่หลายเรื่องก็ดูเหลือเชื่อและบางเบาเกินไป

แต่กลับมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องแบบนี้โดยเฉพาะที่นิวเม็กซิโก ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ยูเอฟโอนานาชาติ แต่สิ่งที่มันทำกลับไม่ใช่การตอบคำถาม แต่เป็นการสร้างคำถามมากมายในหัวผู้ชมว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่เมื่อเดือนมิถุนายน 1947 ในนิวเม็กซิโก และความพยายามต่างๆ ต่อจากนั้น ที่จะควานหาความจริงเกี่ยวกับเพื่อนต่างดาว (ที่อาจมีหรือไม่มี?) รวมทั้งร่องรอยการปิดข่าวจากรัฐบาล

 
 

10. พิพิธภัณฑ์การทรมาน : Netherlands

ใช่แล้ว! มันมีจริงๆ แต่ไม่ใช่ที่ญี่ปุ่นอย่างที่เราอาจจะจินตนาการเมื่ออ่านเรื่องสั้นของโอกาวะ แต่อยู่ที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมอุปกรณ์ทรมานโหดๆ ในยุโรป ที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางบาร์และโรงแรมอันสดใสในแหล่งท่องเที่ยว บอกเล่าอดีตอันโหดร้ายของยุโรป ในยุคที่การทรมานและการประหารชีวิตเป็นเรื่องสามัญ 

อุปกรณ์กว่า 40 ชิ้นนี้ มีตั้งแต่เก้าอี้หนาม ดาบเพชฌฆาต อุปกรณ์ทรมานเพื่อรีดความจริง (?) จากผู้ต้องสงสัย บรรดา ‘แม่มด’ และนักโทษทางการเมือง แต่ไม่ต้องกังวลว่าพิพิธภัณฑ์นี้สนับสนุนความโหดร้ายป่าเถื่อน เพราะที่นี่ให้ความรู้แก่นักเรียนเกี่ยวกับการทรมานที่กว่า 100 ประเทศยังปฏิบัติกันอยู่อย่างไม่แคร์ยุคสมัย และออกปากสนับสนุนอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติด้วย


ที่มา