รู้จักนักเขียนเกาหลีร่วมสมัยทั้ง 7 ในรวมเรื่องสั้น มีในเมษายนฯ
มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม รวมเรื่องสั้นจากนักเขียนเกาหลีร่วมสมัย ครั้งแรกที่ไจไจบุ๊คส์ร่วมกับ Korea Foundation องค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีสู่สายตาชาวโลก
บทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักนักเขียนแต่ละคน ว่าพวกเขามีความสนใจและเสน่ห์การประพันธ์ที่แตกต่างกันอย่างไร
1. คิมด็อกฮี (김덕희) - เมื่อเคียวเห่า 낫이 짖을 때
คิมด็อกฮี เกิดเมื่อปี 1979 เขาเริ่มต้นสายอาชีพนักเขียนวรรณกรรมเมื่อตีพิมพ์รวมเรื่องสั้นเก้าเรื่องในชื่อ ‘จุดบีบคั้น’ เมื่อปี 2017 งานเขียนของเขาสะท้อนให้เห็นทักษะในการสร้างสรรค์สุดประณีต รูปประโยคอันแข็งแกร่ง และเรื่องราวที่พลิกผันหนักหน่วง
ผลงานของคิมด็อกฮีนั้นหลากหลาย ตั้งแต่ประเด็นของเรื่อง ธีม และรูปแบบการเขียน เขาเขียนทั้งเรื่องสั้นอิงประวัติศาสตร์และไซ-ไฟ มีทั้งสัจนิยมสายแข็งไปจนถึงเรื่องราวแนวแฟนตาซี แสดงให้เห็นความสามารถที่รอบด้าน แต่มองในมุมกลับกันความหลากหลายก็อาจทำให้ผู้อ่านมองไม่เห็นจุดเด่น
คิมด็อกฮีไม่เพียงนำเสนอประเด็นที่ต้องการสื่อสารออกมาในเนื้อเรื่อง แต่เขาพุ่งความสนใจไปที่วิธีการเล่ามันออกมา อาจเรียกได้ว่าเขาเป็นนักสุนทรียนิยม ภายใต้สไตล์การเขียนอันหลากหลายเหล่านั้น สิ่งที่ผลงานของเขามีจุดร่วมกันคือจิตวิญญาณอันเข้มข้นของช่างฝีมือ
“เมื่อเคียวเห่า” หนึ่งในรวมเรื่องสั้นที่รวบรวมอยู่ในเล่ม ‘มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม’ เป็นผลงานชิ้นเด่นที่แสดงให้เห็นความสามารถด้านวรรณกรรมของคิมด็อกฮี ตอนต้นและตอนจบต่างสะท้อนกันและกันและตวัดกลับเป็นรูปวงกลมมาบรรจบกันที่ประโยค “ข้าอ่านหนังสือไม่ออก” เป็นเรื่องสั้นว่าด้วยศิลปะการเขียนที่เล่าผ่านมุมมองของเมตาฟิกชัน ทำให้เราได้ตั้งคำถามถึงความหมายของการเขียนและการอ่าน
2. ยุนซ็องฮี (윤성희) - มุม 모서리
ยุนซ็องฮีเริ่มเข้าสู่วงการวรรณกรรมเมื่อปี 1999 หลังจากเรื่องสั้น “บ้านตัวต่อเลโก” ชนะเลิศรางวัลวรรณกรรมปีใหม่ที่สนับสนุนโดยหนังสือพิมพ์ทงอาอิลโบ จากนั้นมาเธอตีพิมพ์รวมเรื่องสั้นและนวนิยายขนาดสั้นออกมาอีกห้าเล่ม และนวนิยายขนาดยาวอีกหนึ่งเล่ม มีชื่อเสียงในวงกว้างและได้รับรางวัลจากเวทีใหญ่ๆ หลายรางวัล เช่น รางวัลวรรณกรรมร่วมสมัย รางวัลวรรณกรรมฮวังซุนวอน และรางวัลวรรณกรรมอีฮโยซ็อก ถึงกระนั้นเมื่อเทียบกับนักเขียนร่วมสมัยคนอื่นๆ ยุนซ็องฮีผลิตผลงานออกมาได้ค่อนข้างน้อยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่มองในอีกแง่ จังหวะการเขียนที่เนิบช้านี้ก็ทำให้เธอโดดเด่นสะดุดตา
ยุนซ็องฮีกล่าวว่าเธอค้นหาวัตถุดิบในการเล่าเรื่องจากรถไฟใต้ดินและท้องถนนในเมือง จากทุกๆ สิ่งที่ได้พบและผ่าน เรื่องราวของเธอแตกต่างตรงที่ไม่ได้มาพร้อมพล็อตเรื่องหักมุมตื่นตาตื่นใจแต่เป็นเรื่องราวแสนสามัญที่เราสัมผัสได้จากชีวิตประจำวัน และซึมซัมเข้าไปได้ไม่ยาก
กลวิธีการเขียนของยุนซ็องฮีคือการแสดงให้เห็นมากกว่าบอกให้รู้ เธอตั้งใจไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญออกมา หรือปิดบังวอบๆ แวมๆ เหมือนกับกำลังเล่นเกม เชื้อเชิญให้ผู้อ่านเข้ามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เรื่องราว เรียกอีกอย่างว่าเป็นเรื่องแต่งที่เน้นการมีส่วนร่วมจากผู้อ่าน เช่นเดียวกับเรื่อง “มุม” ซึ่งเล่าเรื่องตัวละครชายวัยยี่สิบตอนปลายคู่หนึ่ง ดูท่าทางจะกำลังดิ้นรนเอาตัวรอดในฐานะส่วนหนึ่งของกำลังแรงงานและสังคมเกาหลีเช่นเดียวกับคนวัยเดียวกันอีกมากมาย ทั้งคู่ทั้งดูแลเอาใจใส่กัน จนบางครั้งมันดูไม่ชัดเจนว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีนิยามอย่างไร นั่นคือหนึ่งในช่องว่างที่ยุนซ็องฮีสร้างขึ้นมาระหว่างเล่าเรื่อง
3. คิมแอรัน (김애란) - ฉันไปร้านสะดวกซื้อ 나는 편의점에 간다
คิมแอรันเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักเขียนด้วยการชนะเลิศรางวัลวรรณกรรมแทซัน ประเภทผลงานนักศึกษา เธอเกิดในปี 1980 และกลายเป็นแนวหน้าในหมู่นักเขียนเกาหลีที่เกิดในยุค ’80 ทั้งหลาย สิ่งที่น่าสังเกตคือ นักเขียนเฟมินิสต์ที่แผ้วถางเส้นทางในแวดวงวรรณกรรมเกาหลีส่วนใหญ่ต่างก็เกิดในยุคนี้
สำหรับเรื่องสั้น “ฉันไปร้านสะดวกซื้อ” ตีพิมพ์ในปีที่เธอได้รับรางวัล และตีพิมพ์อยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเธอที่ชื่อว่า “Run, Daddy, Run,” ในปี 2005
ในมุมมองของตัวละครหลักของเรื่อง ความพิเศษของบรรดาร้านสะดวกซื้อคือภาวะที่ผู้แวะเวียนเข้าไปในนั้นกลับไม่สามารถจำหน้ากันและกันได้เลย การรับรองและให้เกียรติสภาวะไร้ตัวตนของกันและกันกลายเป็นคุณลักษณะของชีวิตคนเมืองในยุคสมัยใหม่ ซึ่งตัวละครหลักในเรื่องมองภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งดีงาม
4. อีย็องฮุน (이영훈) - ทุกคนชอบเกิลส์เจเนอเรชัน 모두가 소녀시대를 좋아해
อีย็องฮุนเป็นนักเขียนที่เกิดในยุคที่เรียกว่า ‘IMF เจเนอเรชัน’ ผู้ที่เติบโตมาในช่วงที่เกาหลีติดหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่กู้ยืมมาในปี 1997 หลังเกิดวิกฤตการเงินเอเชีย ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับเกาหลีใต้นับตั้งแต่พ้นสงครามมา และกำลังเติบโตพุ่งพรวดมาสองทศวรรษ
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในยุคนั้น วิกฤตนี้เป็นเหมือนพายุร้ายที่สร้างรอยแผลในชีวิตยากจะลืมเลือน หนี้ IMF เป็นเหมือนการแตกหักของเส้นกราฟการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งพรวดของเกาหลี สะเทือนไปทั้งมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
อีย็องฮุนเริ่มเดบิวต์ในปี 2008 จากการได้รับรางวัลนักเขียนหน้าใหม่ของ Munhakdongne และเรื่องสั้น “ทุกคนชอบเกิลส์เจเนอเรชัน” ก็ทำให้เขาได้รับรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์อีกครั้งในปี 2012
5. คิมมีว็อล (김미월) - โรงแรมพลาซ่า 프라자 호텔
คิมมีว็อลเริ่มต้นอาชีพนักเขียนเมื่อปี 2004 เช่นเดียวกับนักเขียนรุ่นเยาว์ในยุคนั้น เธอสนใจประเด็นความยากจนและการดิ้นรนของคนรุ่นใหม่ ในรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเธอที่ชื่อ ‘คู่มือนำเที่ยวถ้ำโซล’ ในปี 2007 เธอพูดถึง ฮิคิโคโมริ อาการที่คนโดดเดี่ยวตัวเอง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เก็บตัวอยู่ในห้องอ่านหนังสือเล็กๆ ห้องใต้หลังคา หรือห้องใต้ดิน ไม่ติดต่อกับโลกภายนอก
แต่เมื่อเธอตีพิมพ์เรื่องสั้น “โรงแรมพลาซา” เธออยู่ในวัยสามสิบกว่าๆ เช่นเดียวกับคู่สามี-ภรรยาในเรื่อง จึงเป็นไปได้ว่าเรื่องราวนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตเธอเองซึ่งมองกลับไปยังตัวเองในวัยเยาว์ มองตัวเองในวันนี้สะท้อนกับกระจกที่มีตัวตนอีกคนในวันก่อน
6. อีจังอุก (이장욱) - อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของฮารุโอะ 절반 이상의 하루오
อีจังอุกเป็นทั้งนักเขียนนิยายและกวี แม้ว่าในแวดวงวรรณกรรมเกาหลี ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบกวีที่ผันตัวมาเขียนนิยาย แต่สำหรับอีจังอุกนั้นต่างออกไป เพราะเขายังคงผลิตงานทั้งสองประเภทออกมาอย่างสม่ำเสมอ ในปี 2014 เขาได้นับรางวัลวรรณกรรมคิมยูจ็อง ซึ่งเป็นรางวัลวรรณกรรมร้อยแก้วชั้นนำของประเทศ ต่อมาในปี 2016 ก็ได้รับรางวัลวรรณกรรมแทซันสำหรับงานกวีนิพนธ์ด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเลิศในงานทั้งสองประเภท
“อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของฮารูโอะ” เป็นเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ในปี 2013 สิ่งแรกที่จับความสนใจของผู้อ่านคือชื่อเรื่องอันชวนฉงน เรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าจากความทรงจำของตัวละครชายชาวเกาหลีที่มีต่อชายญี่ปุ่นชื่อว่า ฮารูโอะ ทาคาฮาชิ และชื่อเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ของฮารูโอะ เมื่อตัวละครเอกพูดกับเขาว่า “นายไม่เหมือนคนญี่ปุ่นแบบที่ฉันรู้จัก” ซึ่งมาจากชุดความคิดเกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่ฝังอยู่ในตัวผู้พูด ขัดแย้งกับบุคลิกของฮารูโอะซึ่งชอบออกท่องเที่ยวพบปะผู้คนใหม่ๆ ฮารูโอะก็พูดกลับอย่างขำขันว่า “อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของฮารูโอะที่เป็นฮารูโอะคนที่ต่างออกไป” สิ่งที่เขาพูดไม่ได้หมายถึงลักษณะทางพันธุกรรมแต่อย่างใด ฮารูโอะตอบโต้ไปว่า “นายเองก็ไม่เหมือนคนเกาหลีแบบที่ฉันรู้จักเหมือนกัน”
7. คิมย็อนซู (김연수) - 'มี' ในเมษายน 'ซอล' ในกรกฎาคม 사월의 미, 칠월의 솔
งานชิ้นแรกๆ ของคิมย็อนซูในวงการนักเขียนที่ได้รับการยกย่องในช่วงปี 1994 เป็นงานเชิงทดลองแนวโพสต์โมเดิร์น ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมวัฒนธรรมเกาหลีมากในทศวรรษ 1980-1990 และได้นับรางวัลจากนิตยสารวรรณกรรม Jakga Segye แต่หลังจากได้รับชื่อเสียงในระดับประเทศแล้ว คิมย็อนซูก็เริ่มตีตัวออกห่างงานแนวทดลองแบบสุดเหวี่ยง แล้วหันมาพัฒนารูปแบบวรรณกรรมสไตล์ตัวเอง แต่ไม่ถึงกับสลัดโลกทัศน์แบบโพสต์โมเดิร์นทิ้งไป เขาเริ่มสนใจปัญหาการแยกแยะระหว่างความจริงและความลวง ข้อเท็จจริงและเรื่องแต่ง โลกความจริงและตัวบท โดยที่ยังคงกังขาและตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นเรื่องแต่งต่อไป
เอกลักษณ์ของคิมย็อนซู คือความเป็นพลเมืองโลก เขาไม่ได้เป็นแค่นักเขียน แต่ยังเป็นนักเดินทางที่ชอบท่องเที่ยวต่างประเทศ มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับเพลงป็อป และเป็นนักแปลวรรณกรรมต่างประเทศมากมาย เช่น งานของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ และเช่นเดียวกับฮารูกิ มูราคามิ ที่ได้ทำหน้าที่แปลงานของคาร์เวอร์มาหลายเล่ม คิมเองก็ชอบวิ่งมาราธอนอยู่สม่ำเสมอ นี่คือรสนิยมที่สอดพ้องกันแต่มิใช่การลอกเลียนแบบ เป็นภาพสะท้อนโลกทัศน์ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งนักเขียนได้นำไปใส่ในวรรณกรรมของเขาเอง
ฉากและตัวละครต่างชาติได้ปรากฏในเรื่อง ‘มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม’ เช่นกัน ซึ่งสำหรับเรื่องสั้นเกาหลีในทศวรรษ 2000s นี่เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย ความเป็นสากลของคิมย็อนซูจึงค่อยๆ กลายเป็นเรื่องสามัญ ป้าของตัวละครผู้เล่าเรื่อง มีชื่อเดิมว่า ชาจ็องชิน ได้อพยพไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนชื่อเป็นพาเมล่า และแต่งงานกับชายอเมริกันชื่อพอล อาศัยอยู่ในเมื่องชายฝั่งเล็กๆ ในฟลอริดา