คุยกับบรรณาธิการหนังสือ Mi in April, Sol in July
ทำความรู้จักหนังสือ มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม เพิ่มเติม ผ่านบทสัมภาษณ์สั้นกับ ณัฐกานต์ อมาตยกุล บรรณาธิการผู้เลือกเรื่องสั้นทั้ง 7 เรื่อง จากนิตยสาร Koreana นิตยสารศิลปวัฒนธรรมเกาหลีที่จัดพิมพ์โดย The Korea Foundation
1.เรื่องในเล่มนี้เลือกจากเกณฑ์ในใจอะไรบ้าง
ต้องเห็นภาพเกาหลีชัด แต่ในขณะเดียวกันตัวละครก็ต้องมีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับความเป็นชาติมากเกินไป จะเห็นว่าแม้เป็นนักเขียนร่วมสมัย แต่เรื่องราวในนั้นก็มีตั้งแต่ยุคโบราณที่ยังต้องทำหนังสือด้วยการคัดพู่กัน เรื่องหนุ่มเฉิ่มๆ จีบสาวกรุงในยุค 1990s มาจนถึงโซลปัจจุบันที่มีวัฒนธรรมการเตร่ดื่มตามร้านเหล้าหนึ่งสู่อีกร้านเหล้าหนึ่งจนเช้า เรื่องราวคนละยุค แต่ทั้งหมดสะท้อนภาพเกาหลีที่เราไม่ค่อยได้เห็นนักในสื่อบันเทิงอื่นๆ
หลายๆ ครั้งเมื่ออ่านทวนเรื่องราวที่เลือกมาจะรู้สึกเหมือนตัวละครกำลังล่องลอยอยู่ในกระบวนการค้นหาตัวเองหรือตั้งคำถามกับความหมายของชีวิตด้วยเรื่องราวสุดธรรมดา อย่างเช่น ความไร้ตัวตนของลูกค้าร้านสะดวกซื้อที่ทำให้สงสัยว่าแล้วเราคือใครหากไม่มีใครรู้จักเรา การเข้าห้องน้ำไม่ได้เพราะคนใหญ่คนโตมารวมตัวกันเพื่อประชุมนโยบายเศรษฐกิจโลก มันหมายความว่าเรื่องถ่ายหนักที่แสนคอขาดบาดตายของคนตัวเล็กๆ อย่างเรา (แต่เป็นเรื่องหนักและใหญ่สำหรับเรา) มันไม่มีความหมายกับสังคมนี้เลยหรือ
เราเลือกตามสไตล์การเลือกหนังสือของไจไจบุ๊คส์ที่ผ่านๆ มา คือดูตัวประเด็นว่าคลิกไหม เปิดเข้าไปอ่าน เกิดอารมณ์ใดที่พิเศษกับเรื่องนั้นไหม มันอาจจะเป็นความเศร้าโหวงๆ หรือขำคิกคัก เราอยากได้อารมณ์ความรู้สึกบางอย่างจากเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นระหว่างทางหรือตอนจบ
2. รวมเล่มกันแล้ว อยากนิยามมันว่าอะไร
เรื่องของคนคิดเยอะที่อาศัยอยู่ในสังคมเกาหลี ถ้าเราเป็นคนที่ชอบคิดต่อยอดหรือคิดมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เล่มนี้ก็เหมือนได้คุยกับเพื่อนต่างชาติที่ถูกคอ อารมณ์ประมาณว่า “ไม่แปลกใช่ไหมที่ฉันถามตัวเองอยู่เสมอเลยว่าฉันคือใคร มาทำอะไรที่นี่”
3.คิดว่าอยากให้ใครได้อ่าน มันทำงานกับใคร
คนที่คับแค้นใจเวลาที่จะรีบเดินข้ามถนน แต่ด้วย “ระบบ” อะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย มันบอกเราว่า เรื่องเร่งรีบของเรามันไม่สำคัญเลยสักนิด จงหยุดรอจนกว่ารถยนต์จะเมตตา หรือจงเดินอ้อมไปขึ้นสะพานลอย หายใจเข้าออกเพื่อบีบให้ตัวตนของเราเล็กลงเหมือนที่สังคมคาดหวังให้เราทำ
และคำพูดแบบนั้นมันทำให้เราร้อนใจ หงุดหงิดใจ แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะยังไม่แน่ใจว่าคิดผิดหรือเปล่า หรือเราเป็นแค่คนตัวเล็กจ้อยจริงๆ มันมีมุมที่สยบยอมและว่าง่ายอยู่ในนั้น
เนื่องในโอกาสที่ไจไจบุ๊คส์ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง จินตนาคาร (Dream Storeys) เรื่องสั้นเกี่ยวกับอาคารในจินตนาการซึ่งเขียนโดยนักเขียนสิงคโปร์ เราเลยอยากลองมาสำรวจอีกทีว่า ยุคนี้ในประเทศสิงคโปร์มีสถาปัตยกรรมอะไรเด่นๆ บ้าง