ความคิดที่ตกตะกอนของฉันหลังจากอ่าน 'แดงรวี' : พิชญา เตโชฬาร

 
 

ผลงานนี้ได้รับรางวัล รักพี่เสียดายน้อง จากกิจกรรมรีวิวหนังสือ

‘ แดงรวี ปรัชญนิยายแนวต่อต้านปรัชญา (anti_philosophy)

โศกนาฏกรรมของมนุษย์ผู้ตกเป็นเหยื่อแห่งเวลา

และความใคร่รู้ว่า ชีวิตคืออะไร และอะไรคือความรัก ’

นี่คือคำโปรยบนปกหลังของ ‘แดงรวี’ นิยายที่ฉัน ผู้เขียนบทความนี้ ไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อมาก่อน แต่คำว่า ‘ปรัชญนิยายแนวต่อต้านปรัชญา’ สามารถดึงความสนใจของผู้เริ่มศึกษาปรัชญาอย่างฉันได้ชะงัด จนอดไม่ได้ที่จะคลิกซื้อจากเว็บไซต์งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติทันที แม้รู้ดีว่าจะทำให้งบสำหรับหนังสือของปีนี้เกินโควต้าที่ตั้งไว้ไปมากโข อาจเป็นเพราะฉันเองที่ไม่สามารถเอาชนะความสงสัยในแขนงปรัชญาที่ยังไม่รู้จักนี้ได้

กล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นที่นำพาฉันมารู้จัก ‘แดงรวี’ นั้นคือความสงสัย อยากรู้ใจแทบขาดว่าอะไรคือความ contrast ของคำว่า ปรัชญนิยายแนวต่อต้านปรัชญา ปกหนังสือมีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาอย่างไร สังคมในกรุงเทพในยุคพ่อแม่เราเพิ่งเกิดจะต่างกับทุกวันนี้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งคำถามเดียวกันกับตัวละครหลักของเรื่อง  ‘คำนวร บำรู’ ที่มีต่อตัวตนของหญิงสาวนามว่า ‘แดงรวี’ 

ด้วยความสงสัยที่มีร่วมกัน อาจช่วยให้ฉันเข้าใจความคิดของบรมเศรษฐีแห่งกรุงเทพเมื่อราว 50 ปีก่อนผู้นี้ได้บ้าง ฉันตระหนักดีว่าการปล่อยให้ความสงสัยกัดกินมันทรมานมากเพียงใด อนิจจา คำนวร บำรู ผู้น่าสงสาร เขายังมีกำหนดความตายอันแม่นยำคืบคลานเข้ามาด้วย ลำพังแค่อยากรู้แต่ไม่สามารถรู้ได้ก็แย่เกินพอแล้ว หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเขา ฉันไม่แน่ใจว่าตนจะยังดิ้นรนหาความจริงต่อไป หรือจะยอมแพ้แล้วเลือกกอบโกยความสุขในช่วงเวลาที่เหลือกันแน่ 

ความสงสัยนี่ช่างน่ากลัวเหลือเกิน ไม่ทันไร ก็เริ่มสงสัยอีกเสียแล้ว

ด้วยเหตุนี้เอง การเข้าไปในโลกของหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนพื้นที่ยกเว้น เป็นที่ที่ความแตกต่างของยุคสมัยไม่สามารถเป็นอุปสรรคในการ ‘อิน’ ของฉันได้ เพราะเหตุการณ์ทุกอย่างในเรื่องยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2563 นี้ มนุษย์ยังคงชินชา มองข้ามความไม่รู้ของตนเอง ไม่เคยคิดตั้งคำถามกับชีวิตประจำวันที่ยังคงเป็นปริศนา มนุษย์คืออะไร ความรักคืออะไร เรามีสิทธิ์กำหนดชีวิตตนเองจริงหรือ ? เมื่อตระหนักว่าตนช่างไม่รู้อะไรเลย จึงต้องเผชิญกับความละอายและใคร่หาคำตอบอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากฉันไม่ได้สังเกตการณ์ในฐานะนักอ่าน แต่เป็นตัวละครที่มีสิทธิ์เปลี่ยนเรื่องราว ก็คงสามารถช่วยบอกคำนวร บำรู ได้ว่า สิ่งที่เขาต้องการนอกเหนือไปจากข้อมูลส่วนตัวของ ‘แดงรวี’ ก็คือ การทำความเข้าใจความจริงสูงสุดของโลกใบนี้ 

การปรากฏตัวของ ‘แดงรวี’ เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามของคำนวร บำรู เขาเคยเชื่อว่าตนเองไม่ต้องการสิ่งใดอีกนอกจากเงิน ตราบที่มีเงิน อำนาจจะยังคงอยู่ในมือเสมอ แต่สำหรับคำตอบที่ว่า ‘ใครคือแดงรวี ?’ แล้ว แม้จะจ่ายไปมากเท่าไร เงินก็ไม่สามารถดับความกระหายใคร่รู้ของเขาได้ รู้เพียงว่าเธออาจเคยเป็นครู เคยมีความสัมพันธ์กับชายมากหน้าหลายตา เป็นเมียคนใหญ่คนโต แต่แล้วอย่างไรเล่า ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ก็เป็นแค่ ‘บทบาท’ ที่เธอเคยเป็นเท่านั้น ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่เคยรับบทบาทมากมายในละครชีวิตแต่ละฉากกว่าจะมาถึงบทบาทปัจจุบัน ในเมื่อเรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่ความจริงอันแน่นอน แล้วจะตอบคำถามว่าใครคือ ‘แดงรวี’ ได้อย่างไร ? แท้จริงแล้วคำถามที่คำนวร บำรู กระหายใคร่รู้นั้นล้วนเป็นคำถามเชิงปรัชญา ซึ่งไม่สามารถได้คำตอบมาโดยการไขว่คว้าหาเอาจากคำบอกเล่าผู้คน การมาของ ‘แดงรวี’ อาจปลุกให้เขาเผชิญหน้ากับการตระหนักถึงความไม่รู้ เขายังคงมืดบอดไม่เห็นหนทางจะหาความจริงอันแน่นอนนั้น 

ความจริงอาจเป็นสิ่งโหดร้าย และการที่คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุขอาจเป็นเพราะการเพิกเฉยต่อความจริง นี่คือสิ่งที่ ‘ผาน’ คนรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ยึดมั่น เขาไม่เข้าใจแม้แต่นิดว่าทำไมเจ้านายต้องปล่อยให้ความสงสัยครอบงำชีวิต สำหรับผานแล้ว การเลือกที่จะไล่ตามสิ่งที่ไม่มีวันได้มานั้นเป็นเรื่องไร้สาระ เขาพอใจแล้วกับชีวิตที่ดีในฐานะคนรับใช้ แล้วผู้ที่เพียบพร้อมด้วยสมบัติอย่างเจ้านายของเขายังต้องปรารถนาสิ่งใดอีก ? ในฐานะผู้อ่าน เราอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดของผาน และคิดเห็นใจคำนวร บำรู ทั้งที่ความจริงแล้ว คนส่วนมากในโลกเราก็อาจเป็นคนประเภทเดียวกันกับผาน ก่อนจะทันรู้ตัว เราก็ก้าวผ่านวัยเด็กที่เคยสงสัยปริศนาของโลกไปเสียแล้ว เราเลิกตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้แล้ว แต่เป็นเพราะการละทิ้งความสงสัยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองโดยตรง คือขั้นตอนหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

คำนวร บำรู จึงอาจดูเหมือน ‘เจ้าหนูจำไม’ ในสายตาคนรอบข้าง แล้วใครกันล่ะจะเข้าใจความสงสัยดังเด็กน้อยในร่างของชายอายุสี่สิบหกได้ ?

ดังที่ฉันได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ความประทับใจแรกที่มีต่อหนังสือเล่มนี้คือความสงสัย ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นชื่อเรื่อง และแม้เรื่องราวในเล่มจะสิ้นสุดลงแล้ว ความสงสัยนั้นก็ยังไม่จางหายไปไหน กลับยังคงวนเวียนพาลให้ฉันยังคงค้นหาคำตอบของชีวิตต่อไปเช่นเดียวกับคำนวร บำรู แม้ประโยคสุดท้ายของเรื่องจะย้ำเตือนว่าความอยากรู้อยากเห็นนั้นน่ากลัวเพียงใดก็ตาม ฉันก็ยังหวังว่าประโยค ‘Curiosity killed the cat’ นั้นใช้ไม่ได้กับมนุษย์ทุกคน และยังเชื่อว่าถ้าคำนวร บำรู มีเวลาเหลืออยู่มากกว่านี้ ตระหนักถึงความพิศวงของโลกนี้ได้เร็วอีกสักหน่อย หรือมีใครบางคนที่เข้าใจและพร้อมจะนำทาง เขาอาจจะไม่จากโลกนี้ไปพร้อมความสงสัยก็เป็นได้

สำหรับฉันแล้ว สิ่งที่ได้จากการอ่าน ‘แดงรวี’ ไม่ได้มีเพียงแค่ความเข้าใจชีวิตและธรรมชาติมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความซาบซึ้งกับวรรณศิลป์อันทรงคุณค่าจากความ ‘เก๋าเกม’ ของคนรุ่นก่อน ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ฉันอายุ 20 ปี กำลังศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกลางเมืองหลวง แต่กลับนึกภาพแทบไม่ออกเลยว่ากรุงเทพในยุคนั้นเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตาม ด้วยการบรรยายและพรรณนาของคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้เขียน ฉันจึงรู้สึกเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนกลับไปเป็นหญิงสาวชาวกรุงเทพคนหนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว นี่คือเสน่ห์หนึ่งของสื่อหนังสือที่สื่ออื่นไม่สามารถสร้างชั่วโมงต้องมนต์เช่นนี้ได้ แม้จะไม่มีภาพประกอบ แต่ทุกถ้อยคำในเรื่องกลับทรงพลังจนฉันมองเห็นทุกเหตุการณ์ได้ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว มากไปกว่านั้น หนังสือเล่มนี้ยังช่วยให้ฉันได้มองลึกลงไปถึงกระแสสำนึกและสภาพจิตใจของตัวละคร มีหลายประโยคเหลือเกินที่เมื่ออ่านจบแล้วอดไม่ได้ที่จะอุทานออกมาว่า ‘หูย..’ ด้วยหลากความรู้สึก ทั้งเห็นด้วย ตรงใจ จิกกัดได้เจ็บแสบ และอีกมากมาย หนังสือ ‘แดงรวี’ ได้ทำลายความคิดของเด็กรุ่นใหม่อย่างฉันที่เชื่อว่าสื่อในโลกทุกวันนี้เป็นเหมือนสิ่งแบ่งแยก generation ของผู้คนอย่างกลาย ๆ แต่ดูเหมือนว่าสื่อบางประเภทได้เดินทางข้ามพรมแดนของยุคสมัยและเป็นอมตะเสมอไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าใด 

และสำหรับฉันหนังสือ ‘แดงรวี’ คือหนึ่งในสื่อประเภทที่ว่านั้น

การตั้งคำถามต่อความจริงอาจเป็นสิ่งอันตราย แต่ก็ช่วยรักษาความเป็นมนุษย์ของเราไม่ให้ต่ำลงไปเช่นกัน หากไม่มีใครสักคนสงสัยในสิ่งที่เป็นอยู่ ความเปลี่ยนแปลงย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ในฐานะผู้อ่านคนหนึ่ง ฉันเลือกที่จะไม่แยแสกับความโหดร้ายของความจริง และพร้อมเผชิญค้นหาความจริงของโลกต่อไป

…เพราะถึงโลกนี้จะริยำเพียงใด อย่างน้อยการไม่ยอมจำนนต่อความริยำนั้นก็อาจเป็นสิ่งที่เป็นมนุษย์ที่สุดที่เราจะทำได้แล้ว

พิชญา เตโชฬาร

ผู้เขียนบทความ

 

เกี่ยวกับหนังสือ : แดงรวี