สัตว์สัตว์ ​: เมื่อธรรมชาติและวัฒนธรรมของคนและสัตว์อยู่ในระนาบเดียวกัน รีวิวโดย วีรวรรธน์ สมนึก

 
 
received_2463877570380358 (1).jpeg
 

งานเขียนจำนวนมากมักจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนเสียมาก แม้จะบอกว่าสัตว์ก็มีชีวิตก็มีความรู้สึก แต่ก็เป็นชีวิตและความรู้สึกที่อธิบายโดยมนุษย์ ต่างจาก “สัตว์สัตว์ : With Animal” (2560) ที่ผู้เขียนดึงเอาธรรมชาติและวัฒนธรรมของคนและสัตว์ออกมานำเสนอในระนาบเดียวกัน

 

รีวิวโดย วีรวรรธน์ สมนึก

ไม่รู้ด้วยสัญชาตญาณหรือการตกเป็นทาสอัลกอริทึ่มเฟซบุ๊ก วันนั้นผมหยิบหนังสือเล่มหนึ่ง หน้าปกเป็นภาพเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต แต่ผมไม่อาจระบุได้ว่าเป็นภาพอะไรกันแน่ที่เปปนอยู่บนปกสีเขียวจืดจาง ผมคิดว่าอาจจะพันเกี่ยวกับเหตุทางโชคชะตาอยู่บ้าง เพราะหนังสือที่ผมตั้งใจไปซื้อที่ร้าน Fathom Bookspace ย่านสวนพลูวันนั้นเป็นงานเล่มอื่นของนักเขียนญี่ปุ่น ไม่มีความข้องเกี่ยวใดกับคำสืบค้น เช่นคำว่าสัตว์ With Animal ไจไจบุ๊คส์ หรือปีกมดลูกเลย

แต่เมื่อคิดไปอีกทางอาจเป็น "อุบัติเหตุ" ก็ได้ เพราะจำได้ว่าช่วงนั้นปลายปี 2560 หนังสือเล่มนี้กำลังออกมาด้วยปก ชื่อ และคนทำหนังสือ ผมทึกทักไปว่าน่าจะเนิร์ดในระดับเดียวกับคอร์สเอ็นทรานซ์กวดวิชา Bio Beam สมัยม.ปลาย การจะอ่านหนังสือเล่มในเร็ววันจึงไม่ได้อยู่ในความคิด อาจเพราะการโปรโมทของคนกลุ่มเล็กๆ ช่วยให้ผมเห็นชื่อ With Animal ในฟีดเฟซบุ๊กที่ไถไปมาในช่วงเวลานั้น ด้วยภาพคุ้นตา และชื่อที่สะดุดใจคงทำให้ผมอดใจไม่ไหวที่จะหยิบมาวางบนเคาเตอร์ พลันพนักงานสาวคิดเงิน 320 บาท ลืมนักเขียนญี่ปุ่น ก่อนเดินออกจากร้าน

ผ่านไปสามสี่วัน หลังอ่านไปได้ครึ่งหนึ่ง ผมมองว่า เล่มนี้เป็นปรากฎการณ์เล็กๆ ในชีวิตที่ได้อ่านและสะเทือนข้างในอะไรบางอย่าง เป็นประสบการณ์สุดแปลกต่างที่วรรณกรรมกับชีววิทยามาบรรจบกันได้อย่างลงตัว

ค่ำหนึ่งผมได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนถึงเรื่องว่าช่วงนี้กำลังอ่านอะไรกันอยู่ และได้ทราบว่าผมและพี่คนหนึ่งอ่าน With Animal เช่นเดียวกัน เราแลกเปลี่ยนกัน และได้ข้อสรุปตรงกันว่าเล่มนี้เฟียตมาก และถ้าจะให้ดีต้องอ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งซ้ำก่อนแล้วค่อยอ่านตอนต่อไป หมายความว่า ถ้าเรื่องสั้นตอนแรกชื่อ With Dragon ตอนต่อไปชื่อ With horse ควรจะต้องอ่าน With Dragon สองรอบก่อน ค่อยอ่าน With Horse ไปแบบนี้จนจบเล่ม

ผมอ่านด้วยความสุขใจแต่ยังไม่มีความคิดจะเขียน ถึงจนกระทั่งข้ามมา 3 ปี ผมหลีกหนีชีวิตในเมืองหลวงมาเปิดร้านหนังสืออิสระในจังหวัดกึ่งกลางภาคอีสาน ในร้านที่เน้นขายวรรณกรรมที่ผมชื่นชอบ หนึ่งในหนังสือร่วม 300 ปก ผมตัดสินใจไม่ยากที่จะเลือก With Animal เข้ามาร่วมในชั้นด้วย และผมก็เลือกแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้กับกัลยาณมิตรประจำร้านไปหลายคน และจากคำถามชวนคุยจากผู้อ่าน ทำให้ผมต้องกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้หลายครั้ง

เริงใจไปกับภาวะส่ำสัตว์ไปกับ Carol Guess และ Kelly Magee สองนักเขียนหญิงที่สนใจทางด้านเพศภาวะและชีววิทยาทางทะเล With animal เล่มนี้ประกอบไปด้วย 17 เรื่องสั้นที่เอาพฤติกรรมของสัตว์มาผูกโยงเข้ากับชีวิตมนุษย์ผ่านการปฏิสนธิ การใช้ชีวิต และการต่อสู้กับบรรทัดฐานทางสังคม ถ้าในวงการเพลงก็คงจะเป็นการ Featuring ระหว่างคนกับสัตว์ ทั้งสัตว์ที่มีอยู่จริงและสัตว์ในเทพนิยายตามแต่ผู้เขียนจะจินตนาการถึง

Illustration: Unnada Trirattanawong

Illustration: Unnada Trirattanawong

With Dragon ว่าด้วยรักในสิ่งที่จะกำเนิดจากตัวเองเหมือนเปิดเล่ม With Animal และเฉลยว่ามันคือการกลายเป็นสัตว์อะไรสักอย่าง เช่นตัวเอกเรื่องนี้ที่กำลังจะคลอดลูกเป็นมังกร ตัวอ่อนในร่างกายเธอจึงทำให้เกิดอากาศร้อนไปทั่วบริเวณบ้าน และเหมือนตัวอ่อนในร่างก็ต้องการจะกินของร้อนๆ อยู่ตลอดเวลา ขณะที่พฤติกรรมเธอก็ค่อยๆ เปลี่ยน ถึงขนาดเห็นเปลวไฟแล้วน้ำลายสอ เรื่องราวคนมีลูกเป็นมังกรจึงเริ่มน่ารักปนน่าหวั่นหวาดนิดๆ

ไม่ได้มีเพียงเธอที่จะมีลูกเป็นมังกร ว่าที่คุณแม่จำนวนหนึ่งก็รวมกันในเว็บบอร์ด เพื่อบอกเล่าประสบการณ์และปรึกษาหารือ ขณะกำลังตั้งครรภ์สัตว์ในเทพนิยายนี้ นอกจากการไหม้ ความร้อนระอุ อีกสิ่งสำคัญคือ "การอันตรธานหายไป" ของคุณแม่และทิ้งไว้แต่เตาถ่านและเด็กน้อยผู้หิวโหย หรือหมายถึงการจากลาตลอดกาล เมื่อลูกมังกรโตขึ้นพอจะกระพือปีกออกไปได้ ดังนั้น "แล้วฉันจะรักอะไร เมื่อเขาบินจากไปแล้ว?" จึงเป็นคำถามสุดเศร้าสร้อยในเว็บบอร์ดที่เธอไม่คิดจะย้อนกลับไปหาคำตอบเลย

With Horse เป็นเรื่องคู่ม้าแฝด ที่แม้คนภายนอกจะเห็นว่าเหมือนกัน แต่ลึกๆ มีจุดที่ต่างกันมาก และเป็นเรื่องเปราะบางที่รอวันแตกสลายจากกัน แม้ดูราวว่าพร้อมจะรักหรือเกลีบดอะไรเหมือนกัน แต่มากกว่านั้นคือพร้อมจะเกลียดกันและกันด้วยความรุนแรงกว่าคนทั่วไป บางวาบของการอ่านนึกถึงตัวละครพี่น้องในวรรณกรรมไทยอย่างชารียาและชลิกาในหนังสือเรื่องใส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

With Fish พูดถึงการสูญเสียคนรักในระหว่างประคับประคองความรัก เป็นความรักของหญิงกับหญิง ที่ต้องการมีลูก แต่สุดท้ายหมอฉีดสเปิร์มผิด กลายเป็นตัวอ่อนปลา ตัวที่เล่าเรื่องเป็นหญิงที่น่าจะเป็นรุก แน่นอนว่าเธอมีลูกให้แฟนสาวของตัวเองไม่ได้ ขณะที่ยังรู้สึกไม่ค่อยสู้ดีว่าจะอยากได้ลูกจริงไหม เพราะไม่ได้มีเลือดเนื้อเชื้อไขของเธอ

เธอก็พบว่าตัวอ่อนในครรภ์ของแฟนกลายเป็นปลาอีก และแฟนก็เริ่มนอยด์จึงเริ่มปรับตัวและประคับประคองกัน จนเธอเริ่มรักสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในครรภ์นั้นเข้าแล้ว กระทั่งช่วงใกล้คลอดที่แฟนร่างกายเริ่มเปลี่ยน เริ่มสร้างตู้ปลาไว้สำหรับแหวกว่าย และแล้วแฟนเธอกลายเป็นปลาจริงๆ ทิ้งไว้ให้เห็นภาพสุดท้ายคือมวลปลาที่รูปร่างคล้ายกับคน (มีเรื่องหมอเข้ามาเกี่ยวด้วย เหมือนหมอตั้งใจฉีดสเปิร์มผิด จะได้ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับดูแลปลา อะไรแบบนี้ คล้ายการเลี้ยงไข้หรือเปล่า)

With Sparrow เรื่องนี้อ่านไม่ง่าย ต้องแชทไปถามผู้แปล ซึ่งใจดีมาก เธอเล่าถึงเรื่องนี้ว่าคือความพังของชีวิตคู่นั่นแหละที่พอพังแล้วพยายามไปหาความเป็นไปได้ในทางอื่นกับนกก็เฟลอีก ที่ผู้หญิงคิดว่ามันเชื่อมต่อกับสามีได้อย่างเดียวคือเรื่องเซ็กซ์ แต่ไม่มีอะไรไปไกลกว่านั้น โดยในชีวิตจริงมันเหี่ยวแห้งมาก เลยพยายามหาความรักจากนกซึ่งนกเองก็ในท้ายที่สุด แต่ก็พยายามหานกตัวใหม่ต่อไปเรื่อยๆ

With Unicorn เรื่องนี้เปรียบพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของสัตว์ที่มักเป็นไปโดยสัญชาตญาณคล้ายรสนิยมสวิงกิ้งของคนกลุ่มหนึ่งที่สุดท้ายเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาจึงฉุกคิดได้ว่าควรจะหาคนมารับผิดชอบร่วมดีไหม? ท้ายสุดลูกออกมาเป็นยูนิคอร์น (เด็กชาย) พอเธอร่อนจดหมายถึงเหล่าคู่ขาจึงมีผู้หญิงคนหนึ่งตอบรับ แต่ที่ผู้หญิงคนนั้นตอบรับไม่ได้เป็นเพราะอยากรับผิดชอบตัวยูนิคอร์นเท่าไหร่หรอก นั่นเพราะติดใจในรสสวาทของคู่ขาหญิงมากกว่า จึงเป็นภาวะระหว่างการตามหาพ่อเด็กไปพร้อมกับการเป็นชู้รักกับผู้หญิงคนนั้น

นานวันยูนิคอร์นเริ่มโต และเธอก็เริ่มผูกพันจนไม่อยากจะเสียมันไป แต่ยูนิคอร์นโตแบบแตกเนื้อสาวซะงั้น และกำลังจะมีพฤติกรรมแบบเดียวกับเธอแบบลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ในตอนท้ายมีทิ้งปมว่าต่อให้เดวี่ (ยูนิคอร์น) จะไปที่ไหน เธอก็จะสู้กลับเอาตัวมาให้ได้และศาลต้องเชื่อว่าเป็นลูกเธอ ดูจากกรรมพันธ์ที่ถูกถ่ายทอดจากเธอดูสิ อะไรประมาณนี้

With Jellyfish เนื้อเรื่องคล้ายมังกร แต่เปลี่ยนจากผู้ใหญ่เป็นเด็กสาวที่มีครรภ์ แต่ครรภ์ที่ว่าอยู่ในร่างกายที่ไม่ใช่ส่วนท้อง หากแต่เป็นตัวอ่อนแมงกระพรุนที่ปะทุออกมาตามผิวแขนและขา บางทีด้วยความไม่รู้ เธอก็เผลอทำร้ายลูกตัวเอง ชวนนึกถึงการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของคุณแม่วัยใส มีประโยคในเรื่องที่ว่าแมงกระพรุนถูกเป็นสัตว์ที่ร่วมเพศก่อนวัย เรื่องชวนหัวจึงเกิดขึ้นกับเด็กหญิงจนเธอให้กำเนิดออเรเลีย ลูกแมงพระพรุนที่เปลี่ยนชีวิตเธอกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งไปตลอดกาล

Illustration: Unnada Trirattanawong

Illustration: Unnada Trirattanawong

With Replica เป็นเรื่องของคุณแม่หญิงรักหญิง ที่ให้กำเนิดลูกจากเด็กหลอดแก้ว ผมว่าเรื่องนี้สนุกตรงที่ได้เห็นการต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องการมีลูกและลูกของเธอก็มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย ทำให้เธอต้องหาวิธีสอนลูกเพื่ออยู่ในสังคมได้ นึกถึงตัวละครในรักแห่งสยามเลย

ประโยคที่ว่า "ฉันอาจอุทิศชีวิตเพื่อสนับสนุนสิทธิที่เขาจะได้เป็นตัวของตัวเอง แต่ฉันคงบ้าตายก่อน หากปล่อยให้เขาเป็นพวกสเตอริโอไทป์" ให้ใจความล้อไปกับ PFLAG องค์กรขนาดใหญ่ในอเมริกาที่มุ่งสร้างความเข้าใจและประสานสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม LGBT กับสังคม เรื่องนี้จึงน่าสนใจตรงปูมหลังของหญิงสาวกับคู่เลสเบี้ยนที่ข้องเกี่ยวกับศาสนาเป็นเรื่องสั้นที่ค่อนข้างอิงกับสิทธิมนุษยชนและคัมภีร์ไบเบิ้ลที่ดีเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้

With Spider เล่าถึงแม่โดดเดี่ยว ผู้เสียลูกเลยเอาแมงมุมมาเลี้ยงและตั้งชื่อว่าสปีดี้ แมงมุมก็เป็นสัตว์ที่ถูกตั้งคำถามมากว่าจะเอามาเลี้ยงแทนคนได้ยังไร เฉพาะพฤติการณ์การกินอยู่ที่ยากจะบรรจบกัน (จริงๆมันก็ยากทั้งนั้นแหละนะคนกับสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง) เรื่องนี้มีความดราม่าในตอนท้าย ทำน้ำตาซึมตอนอ่านจบ ไม่อยากสปอยอะไรเลย เอาเป็นว่าต้องไปอ่านเอง

With Egg เป็นเรื่องของนักศึกษาสองคนที่ได้รับหน้าที่ให้ดูแลไข่ แต่ต่อมาความผูกพันจากการฟูมฟัก เริ่มทวีคูณมากขึ้นทั้งที่พวกเธอก็ยังไม่รู้ว่า สิ่งมีชีวิตในเปลือกนั้นจะมีหน้าตาแบบไหน ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่อง "ความเป็นแม่" ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงหรือเปล่า แต่บรรยากาศความห่วงหาอาดูรที่เกิดขึ้น ทำให้นึกถึงสำนวนไทยที่ว่าไข่ในหิน

ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งมีชีวิต แต่ With Animal ยังพาไปปะทะกับ With Storm เด็กสาวผู้หลงรักนัยย์ตาพายุเฮอริเคนที่เธอคิดว่าหากทำให้มันเชื่อง ทั้งสองจะลงล็อคเป็นคู่รักฉ่ำแฉะดุดันมากกว่าคู่รักทั่วไปสักหน่อย With Nebula เล่าถึงแม่ที่กำลังดูอัลตร้าซาวน์ แล้วเห็นว่าสิ่งที่เธอกำลังคลอด เป็นได้ทั้งสสารและสิ่งไร้น้ำหนัก จะอยู่ตรงนั้นและอาจไม่อยู่ตรงนั้นในบางเวลา ชิ้นส่วนของเธออาจเป็นได้ทั้งสัตว์ ทั้งมนุษย์ และมนุษย์ต่างดาว สิ่งจริง สิ่งไม่จริง คือการมองจากที่ไกลอันสุดยากจะคาดเดาว่า Nebula คืออะไรหรือ With Plush ที่พูดถึงสังคมหลายผัวหลายเมียอันแสนวุ่นในโลกอนาคต

With Fox เรื่องของคู่รักที่ฝ่ายชายกลายเป็นสุนัขจิ้งจอก แล้วฝ่ายหญิงต้องทนทุกข์กับชีวิต เพราะด้วยสัญชาตญาณของสัตว์ที่ทำให้เธอมักถูกทำร้ายอยู่บ่อยๆ โดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจ ผมคิดว่าเขาสื่อถึง ความพลั้งเผลอของชีวิตคู่ ที่ความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นเสมอๆ ท้ายที่สุดถึงจะรักกันแค่ไหน สุดท้ายทุกคนต่างต้องกลับไปที่โลกของตัวเอง แต่จะไปแบบมนุษย์หรือแบบสัตว์สัตว์ดี 

With Sloth แน่นอนว่าบุคคลิกของตัวสลอทที่ใครๆต่างรู้จักคือความขี้เกียจอุ้ยอ้ายซึ่งสลอททารกกำลังจะเกิดจากครอบครัวหนึ่ง ความสัมพันธ์ที่เราไม่อาจคาดเดาว่าพวกเขาเป็นสามีภรรยากันยังไง แต่ดูเหมือนทั้งคู่พยายามจะรักในความเป็นสลอท และเข้าใจธรรมชาติของสัตว์แสนเชื่องช้านี้ให้มากที่สุด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นผมอยากให้อ่านตอนจบ มีปมที่ทิ้งไว้ ไม่ให้เรื่องนี้คลี่คลายง่ายๆ หรือเพราะความขี้เกียจของสลอทนั้นมากเกินจนไม่อยากเกิดมา เรื่องนี้ยังมีความน่ารักเล็กๆ ตรงที่การคิดชื่อลูกสลอท ทำให้เห็นวิธีคิดที่แปลกต่างจากการคิดชื่อลูกของคนไทยดี

Illustration: Unnada Trirattanawong

Illustration: Unnada Trirattanawong

With Raccoon การสูญเสียลูก (คน) ทำให้พ่อลูกอ่อนต้องพบชะตาชีวิตแสนหดหู่ เมื่อภรรยาของเขา กลายเป็นบุคคลที่มีอาการทางจิตเพราะการโหยหาลูกและบางทีเธอก็คิดว่าลูกยังอยู่ที่บ้านกับเธอตลอด แม้สามีเธอก็ยังไม่ได้รู้สึกเศร้าเท่าเธอ ถึงจะเศร้าก็ไม่เท่ากับที่เธอรู้สึก จนวันหนึ่งเขาพบเห็นแรคคูนฝูงหนึ่งที่มาเกาะกลุ่มรบกวนการทำงาน ก่อนพวกมันจะทิ้งลูกไว้ เขาจึงค้นพบอะไรบางอย่างที่มองข้ามมาตลอด

With Hippo อ่านแล้วแวบแรกคิดว่าเป็นหมาพันธุ์ปั๊ก แวบสองคือหมูพุงโย้ แต่ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าอะไร สิ่งนั้นก็มีสีเทาดำและกำลังหายใจ ในธนาคารแห่งหนึ่ง ลูกฮิปโปที่ภายหลังถูกตั้งชื่อว่าเฮร่าถูกทิ้งไว้พร้อมโน๊ตปริศนา ก่อนที่ผู้หญิงคนนั้นจะกลายเป็นแม่  

ตอนแรกนึกว่าเรื่องจะจบแบบสุดเศร้า ฮิปโปเป็นสัตว์ที่ต้องการความรักมหาศาล แต่จงระวังไว้! ขณะที่พวกมันก็กลายเป็นสัตว์ดุร้ายได้ด้วยเช่นกัน แต่เศร้ากว่านั้นเพราะเมื่อเฮร่าเป็นเพียงลูกฮิปโปตัวหนึ่งที่ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ ความป่วยไข้ของมันจึงเป็นแค่ความป่วยไข้ของสัตว์ตัวหนึ่ง

With Animal ก่อนจะจบด้วยความส่ำสัตว์ที่รวมหลากการปฏิสนธิและการเกิดในร่างต่างๆ ของผู้หญิงคนหนึ่งและลูกของเธอเป็นคล้ายโบนัสแทร็คแทรกปิดท้าย

หลังอ่านจบชวนให้ย้อนกลับมาคิดว่าที่ผ่านมา โลกของเราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยตลอดนับพันล้านปีที่ผ่านมา และดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้นในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งมีตัวการสำคัญอย่างยิ่งยวดคือ “มนุษย์” จนหลายฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า ณ ขณะนี้ โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ “ยุคมนุษย์” (Anthropocene) นอกจากนี้ มนุษย์ยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ อย่างมหาศาลไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ข้าวของเครื่องใช้ องค์ความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ และสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมองสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏบนโลกถูกตัดสินและอธิบายผ่านมุมมองมนุษย์ และงานเขียนจำนวนมากก็มักจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนเสียมาก บ้างก็เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ แต่ก็เป็นการพูดถึงสัตว์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในสังคมมนุษย์ แม้จะบอกว่าสัตว์ก็มีชีวิตก็มีความรู้สึก แต่ก็เป็นชีวิตและความรู้สึกที่อธิบายโดยมนุษย์ ต่างจากหนังสือเรื่อง “สัตว์สัตว์ : With Animal” (2560) เล่มนี้ที่ผู้เขียนพูดถึงประเด็นทางสังคมผ่านการดึงเอาธรรมชาติและวัฒนธรรมของคนและสัตว์ออกมานำเสนอในระนาบเดียวกัน

ขอชื่นชมผู้แปล ทั้งคุณณัฐกานต์ อมาตยกุล และณัฐชานันท์ กล้าหาญ รวมถึงบรรณาธิการ และผู้เกี่ยวข้องกับสำนักพิมพ์ไจไจ บุ๊คส์ ทุกคนที่ตัดสินใจทำเล่มนี้ออกมา ผมคิดว่าตัวบทในเล่มนี้มันไปได้ไกลกว่านี้อีกในสังคมการอ่าน ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ความเพียบพร้อมของเล่มนี้คือ อ่านให้สนุกก็ได้ อ่านเอาวรรณศิลป์อันสวยงามจากการแปลก็ได้ และอ่านเอาความรู้ด้านชีววิทยาก็ได้ รวมถึงอ่านเป็นแคมเปญพิทักษ์สัตว์ก็เข้าที (บางเรื่องให้อารมณ์แบบวรรณกรรมเยาวชนด้วยซ้ำ)

ถ้าเป็นไปได้เนื้อหาในเล่มนี้น่าจะทำออกมาเป็น Series เพราะดูจากสเกลเรื่องเล่าแล้ว มันเข้มข้น และเข้าถึงอารมณ์แบบส่ำสัตว์จริงๆ แล้วผมเองก็ยินดีจะแนะนำให้คนอื่นๆ ได้อ่าน With Animal อยู่เสมอ เป็นอีกเล่มในชีวิต ที่รู้สึกเริงใจที่ได้อ่านซ้ำๆ





สัตว์สัตว์ (2560)

แปลจากหนังสือ: With Animal

ผู้เขียน: Carol Guess, Kelly Magee

ผู้แปล: ณัฐกานต์ อมาตยกุล, ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

สำนักพิมพ์: Chaichai Books


เกี่ยวกับหนังสือ : With Animal