คำนวร บำรูผู้ยิ่งยง และ ‘รงค์ผู้เป็นหนุ่มตลอดกาล

 
 
แดงรวี2.jpg

Highlight

ลีลากวนประสาทชวนหัวยังคงเต็มพิกัด แต่เราจะได้เห็นการผสมผสานระหว่างงานเขียนพินิจชีวิตผสมกลิ่นไซไฟเจือจาง ท่ามกลางแสงระยับของชีวิตเศรษฐี

น่าเสียดาย หากวลี “ชั้นครู” จะกีดกันงานของเขาให้ห่างจากคนรุ่นเรา ผู้เกิดหลังทศวรรษ 1990 ทั้งที่เรื่องเหล่านั้นยังเชื่อมโยงสัมพันธ์กับชีวิตคนทุกคน


 
 

หากเคยอ่านคอลัมน์ หันหน้ามาทางนี้พบ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ใน a day สมัยที่งานเขียนหลุดโลกไปสู่เอกโซพลาเนต ก็คงมีหลายคนที่รู้สึกเช่นเดียวกันว่าไม่ค่อยเข้าใจ แต่สนุก

หลังจากผ่าน เสเพลบอยชาวไร่ สนิมสร้อย และเปลี่ยวคอนกรีต เราเริ่มรู้ว่านักเขียนท่านนี้มีลีลาและเรื่องที่สนใจหลากหลาย ไม่ได้แช่แข็งตัวเองว่าเป็นสไตล์ใด

น่าเสียดาย หากวลี “ชั้นครู” จะกีดกันงานของเขาให้ห่างจากคนรุ่นเรา ผู้เกิดหลังทศวรรษ 1990 ทั้งที่เรื่องเหล่านั้นยังเชื่อมโยงสัมพันธ์กับชีวิตคนทุกคน

แต่ถึงจะหลากหลาย ใครต่างยกให้ลีลาภาษาอาว์รงค์เป็นเอกลักษณ์เลียนแบบกันได้ยาก ทั้งการสะกดกับหรือการผูกเรียงประโยคพรรณนาและบทสนทนา ห้วนกระชับสลับชมดชม้อย จนบางทีทำให้ผู้อ่านเหวอไปกับจังหวะที่คาดเดาได้ยาก

สำหรับเล่มนี้ ลีลากวนประสาทชวนหัวยังคงเต็มพิกัด แต่เราจะได้เห็นการผสมผสานระหว่างงานเขียนพินิจชีวิตผสมกลิ่นไซไฟเจือจาง ท่ามกลางแสงระยับของชีวิตเศรษฐี (ใครก็มักเมาท์แวดวงไฮโซด้วยความรักและชังปนเปกันไป) บางคนอาจไพล่นึกถึง The Great Gatsby โดยฟิตซ์เจอรัลด์ ที่เขียนก่อนหน้านั้นสัก 50 ปี

แต่ในขณะที่แกตสบี ฉายให้เห็นยุคทองอันฉาบฉวยของสังคมอเมริกัน เหมือนวัตถุราคาถูกเคลือบทองแต่เพียงผิว ทั้งคน ความสัมพันธ์ วงสังคม และความรัก

คำนวร บำรูในเรื่อง แดงรวี กลับเพิกเฉยต่อเรื่องความสัมพันธ์ หรือกระทั่งความรัก ไม่เคยหลุดคำถามว่าแดงรวีเคยรักเขาหรือไม่ ไม่เคยถามว่าคนที่มาพัวพันกับตนจริงใจหรือเปล่า  เพราะนั่นไม่สำคัญ เขามองทุกสิ่งเป็นเพียงวัตถุ

กระทั่งชีวิตเขาเองก็เป็นเพียงวัตถุแห่งการศึกษาหาคำตอบ

จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่มีอะไรต่าง

ไม่มีความสัมพันธ์ใดให้อาลัย อาจเพียงเสียดายที่แพ้เกมสุดท้ายหากไขปริศนาของตัวเองไม่ได้

แดงรวี จึงไม่ใช่นิยายที่ก่นดูถูกชีวิตเศรษฐี

แต่ชวนคิดตามว่าในความร่ำรวยหรือยากจน

มีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวตนซ้อนทับอยู่

 
ฉบับปกแข็ง พิมพ์จำนวนจำกัด

ฉบับปกแข็ง พิมพ์จำนวนจำกัด

 

คำนวร บำรูในเรื่อง แดงรวี กลับเพิกเฉยต่อเรื่องความสัมพันธ์ หรือกระทั่งความรัก

หนังสือความยาว 245 หน้านี้ แม้จะมีคำโปรยปกหลังว่าเป็น anti-philosophy แต่เนื่องจากเป็นงานที่ตีพิมพ์รายสัปดาห์ จึงมีการเรียบเรียงแต่ละบทตอนให้น่าติดตาม เราจึงอ่านเรื่องราวต่อเนื่องไปได้ไม่ยาก และไม่ต้องคิดเรื่องเชิงปรัชญาระหว่างอ่านเลยก็ได้

แต่เนื้อหาจะหนักหน่วงเป็นพิเศษในส่วนคำตามที่เขียนโดย กิตติพล สรัคคานนท์ อดีตบรรณาธิการวารสารหนังสือใต้ดิน (underground buleteen) ที่พลิกอ่านแดงรวีด้วยสายตาใหม่ เคียงคู่ไปกับความคิดทางปรัชญาเกี่ยวกับความตายโดยเฮเกล บาตายล์ ซิเซโร ไฮเดกเกอร์ ฯลฯ

เป็นเหมือนกาแฟร้อนที่ตบท้ายอาหารคาวหวานมื้อขนาดพอดี แม้ไม่ใช่ส่วนเติมเต็ม แต่เมื่อเข้ามาเสริมก็กลายเป็นส่วนจุดประกายให้เราคิดเรื่องความตายกันต่อ

ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยกระเตาะหรือไม่ใกล้ฝั่ง

ไม่ว่าจะเป็นเบบี้บูมเมอร์ เจ็น X เจ็น Y หรือเจ็น Z ก็มีสิทธิ์ไขว่ห้างคิดเรื่องนี้ได้ โดยไม่ควรถูกบริภาษว่าแก่แดด

เพราะความตายไม่ได้สงวนให้เป็นเรื่องที่คนวัยใดควรคิดถึงมัน แต่สงวนไว้ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้จินตนาการก็เท่านั้น



Related Post