Interview: Yoko Ogawa
คุยกับ Yoko Ogawa ผู้เขียน Revenge
Highlight
แต่ละวันผ่านไป ฉันเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสตรอว์เบอร์รีชอร์ตเค้กที่เน่าเสียทีละเล็กทีละน้อย แรกทีเดียว ครีมสดจะเริ่มเปลี่ยนสี จากนั้นไขมันจะเริ่มลอยแยกตัวออกมา ละลายเลอะเทอะอยู่รอบกระดาษแก้ว สตรอว์เบอร์รีค่อยๆ แห้งกรอบจนเหมือนหัวเด็กที่อัปลักษณ์จากโรคทางพันธุกรรม ส่วนความนุ่มฟูของฐานเค้กก็เริ่มยุบหายไปจนกระทั่งตัวเค้กพังยวบลงมา ไม่นานนัก มันก็ขึ้นราในที่สุด - บางส่วนจากเรื่อง Afternoon at the Bakery
“สิ่งสำคัญในการทรมานนั้น คือความต่อเนื่องครับ ไม่ใช่เพียงความเจ็บปวดชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แต่เป็นความต่อเนื่องที่ไม่มีวันสิ้นสุด คุณไม่มีทางรู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ - บางส่วนจากเรื่อง Welcome to the Museum of Torture
คุณมีความแค้นอยู่ในใจใช่ไหม แล้วความแค้นเกิดจากอะไร? เป็นเพราะเรามีเรื่องอัดอั้นที่แสดงออกในทันที (หรืออาจจะตลอดกาล) ไม่ได้อย่างนั้นหรือ
หากความแค้นได้รับการถ่ายทอดให้ออกมาเป็นเรื่องราวที่งดงามและขนลุกขนพองไปในเวลาเดียวกัน กลิ่นของความแค้นนั้นจะเป็นอย่างไร หอมหวานเกินไปเหมือนกลิ่นผลไม้ที่เริ่มเน่าเสียหรือเปล่า
ชุดผลงานเรื่องสั้นของโยโกะ โอกาวะ นักเขียนร่วมสมัยซึ่งกวาดหลายรางวัลจากญี่ปุ่น ได้ปรากฏบนชั้นหนังสือไทยอีกครั้ง หลังจากการฝากผลงาน ดอกเตอร์กับรูท และสูตรรักของเขา โดยสำนักพิมพ์ JBook ราวปี 2004 คราวนี้เธอกลับมาในสีชมพูโศก จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์
Revenge เรื่องสั้นประเภท short story cycle ซึ่งหมายถึงชุดเรื่องสั้นที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นวงวน แม้การเชื่อมต่อเรื่องราวในเรื่องเล่าที่แยกเป็นเอกเทศหลายๆ ชิ้น จะเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในวรรณกรรมอเมริกันร่วมสมัยมาหลายปี แต่ในแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่นนั้นได้ใส่ใจให้น้ำหนักกับการประกอบโครงสร้างเรื่องราวในภาพใหญ่จากชิ้นส่วนเล็กๆ มาตั้งแต่ Sei Shonagon เขียน The Pillow Book ในศตวรรษที่ 11 แล้ว ในญี่ปุ่นยังมีบทกวีประเภทที่เรียกว่า Renga ซึ่งเป็นกวีที่เชื่อมโยงต่อกัน ทำให้กลายเป็นภาพลักษณ์และธีม ซึ่งมากกว่าการเป็นแค่เรื่องเล่า ผลก็คือภาพแบบคาไลโดสโคป เต็มไปด้วยมุมที่หักบิดและการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง
การเชื่อมต่อกันระหว่างเรื่องต่างๆ ใน Revenge อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของหนังสือเล่มนี้ เรื่องทั้งหมดมีขนาดสั้นและมักจบแบบไม่เฉลยอะไร จุดสำคัญจึงอยู่ที่การเลื่อนไหลไปของตัวละครและภาพในเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง เกิดเป็นการเคลื่อนไหวที่งดงาม มีแบบแผนที่ซับซ้อนละเอียดลออ
น้ำเสียงเรียบเฉย การเล่าเรื่องที่มีลักษณะเรียบง่ายมิติเดียว ทำให้งานของโอกาวะดูสะอาดสะอ้าน เน้นย้ำความน่าเชื่อถือของผู้เล่า แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่แปลกประหลาดหรือเซอร์เรียล รวมทั้งประสบการณ์ที่ท้าทาย ประสาทสัมผัส และสัญชาตญาณการระวังภัยของเรา ผลลัพธ์ที่ออกมาคือความระแวงระไวอันล้ำลึกแผ่ขยายไปในเรื่องเล่าแสนธรรมดาเหล่านั้น
โอกาวะเคยให้สัมภาษณ์ว่า “งานของฉันมักจะมีธีมเกี่ยวกับ ความล้นเกินอันบกพร่อง สิ่งที่ควรมีอยู่กลับขาดหาย ขณะที่ส่วนเกินซึ่งเข้ามาในภาพนั้นก็ทำให้ล้น เมื่อพิจารณาดูงานของตัวเองที่ผ่านมา ฉันอธิบายลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่อาจพูดได้ว่าจงใจ มันก็แค่เกิดขึ้นมาอย่างนั้นเอง”
เว็บไซต์ Words Without Borders กล่าวไว้ว่า เมื่อพูดถึงชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ Revenge ที่ตั้งโดย Snyder ผู้แปล แม้ไม่ใช่ชื่อตรงตัวจากญี่ปุ่น (ซึ่งมีความหมายว่า เรือนร่างที่เงียบงัน และการสวดส่งศพอันลามกจกเปรต) แต่คำซึ่งมาพร้อมภาพลักษณ์ของเงามืดนี้มีนัยยะถึงความหมกมุ่นและจุดเริ่มต้นสู่ความรุนแรง และสื่ออารมณ์หลักของผลงานชุดนี้ได้ดี
บทสัมภาษณ์โยโกะ โอกาวะ ต่อจากนี้ สัมภาษณ์โดย เดบอราห์ เทรสเมน เดอะนิวยอร์กเกอร์ แม่อีกคนของวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้เราอ่านเนื้อเรื่องไปแล้วพึมพำในใจว่า
แม่ก็คือแม่…
เรื่องสั้น Pregnancy Diary ที่วารสาร The Newyorker ได้ตีพิมพ์นั่นเกี่ยวกับหญิงสาวที่ลังเลใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของพี่สาว และมีความพยายามที่จะทำลายเด็กในท้องด้วยเกรปฟรุต คุณได้ไอเดียนี้มาจากไหน
สังคมญี่ปุ่นปัจจุบันดูเหมือนปลอดภัยและสะดวกสบาย แต่ฉันอยากเขียนถึงความรุนแรงที่ไร้รูปร่างและอันตรายที่ซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นผิว ฉันใช้สัญลักษณ์อย่างสารเคมีทางเกษตรกรรมในเกรปฟรุต ฉันอาจใช้ผลไม้อะไรก็ได้ แต่เกรปฟรุตนั้นมีภาพพจน์ของความรื่นเริง สดใส ซึ่งความ irony จะเพิ่มความเข้มข้นของสัญลักษณ์นั้น
ในงานของคุณ มักมีตัวละครเด็กๆ ออกมาบ่อยครั้ง และมักมาในลักษณะที่ค่อนไปทางไร้เดียงสา คุณเองมีลูกหรือไม่ และมันส่งผลอย่างไรกับการสร้างงาน
ฉันมีลูกอายุ 16 ปี การเป็นแม่สอนให้ฉันยอมรับและเลี้ยงดูมนุษย์อีกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข และฉันคิดว่าประสบการณ์นี้สะท้อนในผลงานฉันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
งานของคุณส่วนใหญ่จะเล่นกับประเด็นความผิดประหลาดทางชีววิทยา ฉันได้อ่านเรื่องราวต่างๆ ของคุณที่พูดถึงผู้หญิงที่มีหัวใจเติบโตออกมาด้านนอก มือที่งอกออกจากพื้นดิน พืชประหลาดเรืองแสงที่โตในห้องนอนของคู่รัก คุณหลงใหลเรื่องความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือ
การอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจมนุษย์เป็นเรื่องยาก แต่เมื่อฉันสังเกตและวาดภาพการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพภายนอกเหล่านี้อย่างใส่ใจ ฉันพบว่าตัวเองสามารถนำปัญหาภายในออกมาเสนอให้เป็นที่ประจักษ์ได้ นี่คือวิธีการของฉันในการเป็นนักเขียน
คุณบอกไว้ว่าคุณมักถูกดึงดูดโดยอันตรายและความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวของชีวิตประจำวัน รวมทั้งรายละเอียดที่แสนโหดร้ายของมัน
มนุษย์ทุกคนมีความรุนแรงบางอย่างอยู่ในตัว แต่พวกเราส่วนใหญ่พยายามปิดซ่อนมันไว้ ในทำนองเดียวกัน เราก็พยายามเมินเฉยต่ออันตรายที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อจะปัดมันให้พ้นๆ และข้ามผ่านไป แต่ถึงอย่างนั้น เราเองก็หลงใหลในสิ่งที่ถูกมองข้ามเหล่านี้ และความหลงใหลนี้กลายเป็นแรงผลักดันในงานของฉัน ผ่านกระบวนการที่เราเรียกว่า “วรรณกรรม” สิ่งต่างๆ ที่โดยปกติเรามองไม่เห็นจะกลายมาเป็นรูปแบบ และองค์ประกอบของมันในเรื่องแต่งก็ยังคงน่าตื่นตาสำหรับฉัน
คุณเริ่มเขียนหนังสือและตีพิมพ์งานในญี่ปุ่นได้อย่างไร
ฉันอ่าน บันทึกลับของแอนน์ แฟรงก์ ตอนอายุได้ 14 ปี และตระหนักได้ในตอนนั้นว่าการเขียนคือวิธีการที่มนุษย์จะปลดพันธนาการให้ตัวเอง ฉันเริ่มต้นการเขียนด้วยการจดบันทึก แรกๆ ก็พยายามบันทึกประสบการณ์ต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ และเที่ยงตรงที่สุด แต่ฉันก็ค่อยๆ ตระหนักว่า ศิลปะการเล่าเรื่อง (storytelling) เริ่มต้นพร้อมๆ กับการจัดวางความทรงจำลงในถ้อยคำ ท้ายที่สุด ฉันก็เริ่มเขียนนิยายจากบันทึกเหล่านั้น ในปี 1988 ฉันก็ได้รางวัลนักเขียนหน้าใหม่จากวารสารวรรณกรรมไคเอ็น (Kaien)
คุณได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นนักเขียนคลื่นลูกใหม่ของญี่ปุ่น คุณคิดว่าตัวเองจัดอยู่ในกลุ่มใดเป็นพิเศษไหม
ฉันไม่อยู่ในกลุ่มไหนเลย นั่นเป็นงานของนักวิจารณ์และนักวิชาการ ฉันรู้แต่เพียงว่าตัวเองเป็นใครสักคนที่เขียนเรื่องแต่ง
คุณเพิ่งตีพิมพ์งานในภาษาอังกฤษไม่มากนัก ทั้งที่คุณก็เป็นหนึ่งในนักเขียนญี่ปุ่นที่คนรู้จักมากที่สุด และยังเขียนงานมามากกว่า 17 ปี ได้รางวัลอะคุตะงะวะอีกด้วย อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับนักเขียนญี่ปุ่นในการก้าวเท้าเข้ามาสู่โลกวรรณกรรมภาษาอังกฤษ
การที่งานของนักเขียนญี่ปุ่นจะไปถึงมือนักอ่านในต่างภาษาได้นั้นต้องอาศัยความทุ่มเทของเอเจนต์ บรรณาธิการ และนักแปลที่มีฝีมือ ฉันอยากให้งานของตัวเองตีพิมพ์ในต่างประเทศโดยมีปัจจัยต่างๆ ที่ดีที่สุดรายล้อมอยู่ และฉันก็ไม่เป็นกังวลหากมันจะต้องใช้เวลามากสักหน่อย ในภาษาอังกฤษ ดูเหมือนว่าเงื่อนไขต่างๆ ในการพิมพ์งานของฉันนั้นเหมาะเจาะแล้วและฉันก็ดีใจที่เป็นเช่นนั้น ฉันไม่ได้รู้สึกว่ามันใช้เวลานานเกินควรเลยที่จะมาถึงจุดนี้ อย่างที่คนเขาพูดกันว่าทุกสิ่งมีที่ทางและเวลาของมันเอง
มีงานเขียนของนักเขียนอังกฤษหรืออเมริกันคนใดที่ส่งอิทธิพลต่อคุณบ้างไหม
พอล ออสเตอร์ สตีเวน มิลเฮาส์เซอร์ และจอห์น เออร์วิง เมื่อฉันอ่าน พอล ออสเตอร์ ฉันรู้สึกว่านิยายของเขาไม่ใช่แค่ผลผลิตของจินตนาการเพียงอย่างเดียว แต่พูดถึงสิ่งที่มีอยู่ในโลกแห่งความจริง นักเขียนคือคนที่ค้นพบบางสิ่งที่มีอยู่แล้วในโลกแต่คนทั่วไปไม่สังเกตเห็น แล้วนำมาถ่ายทอดด้วยถ้อยคำ นี่คือคอนเซปต์ใหม่สำหรับฉันเลย ฉันได้เรียนรู้จากงานของเขา
แล้วก็งานของสวีเวน มิลเฮาส์เซอร์ ซึ่งมีมุมมองเกี่ยวกับความจริงที่แหลมคม งานของเขาสื่อออกมาว่า ความจริงนั้นไม่ได้เกี่ยวกับนามธรรมหรือทฤษฎี แต่เป็นผลรวมของรายละเอียดยิบย่อยชัดเจนอันหลากหลาย ฉันเรียนรู้จากเขาในประเด็นที่ว่านักเขียนควรโฟกัสอยู่กับอะไร
สำหรับงานของจอห์น เออร์วิง สิ่งที่ดึงดูดใจฉันที่สุดเห็นจะเป็นการที่เขามักทำให้สถานการณ์ขมขื่นนั้นเข้มข้นจนถึงขีดสุดกระทั่งมันกลายเป็นเรื่องตลก เขาได้ทำให้เราเห็นว่าเรื่องราวของมนุษย์ที่ผิดรูปผิดรอย น่าเวทนา หรือน่าหัวร่อนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อโศกเศร้า แต่ได้บรรจุความเป็นไปได้ในการหลุดพ้นเอาไว้ด้วย
Words: Khing Amatyakul
Photos: Papercut.co / manita-s.tumblr.com